ถาม-ตอบปัญหาวิปัสสนา PDF Print E-mail

รวมบทความวิสัชนาธรรม
โดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

จงเพิกถอนออกจากมายาคติอันผิดๆ หันเข้าสู่สัจจธรรม
ขอให้เราจงค่อยๆ ก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทางอันแท้จริงด้วยเถิด

นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 ที่ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเริ่มทำการเผยแผ่ธรรมะ  ก็มีคำถามจากผู้ปฏิบัติวิปัสสนาในแนวทางนี้และผู้คนทั่วโลกเข้ามามากมาย

คำถามเหล่านี้มีหลากหลาย ตั้งแต่ ธรรมะคืออะไร  การปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา  จุดมุ่งหมายของชีวิต  ความทุกข์ของมนุษย์  พระเจ้า  การกลับชาติมาเกิด  ไปจนถึงการนอนไม่หลับ... ซึ่งจะจัดแบ่งออกเป็นหมวดหมู่กว้างๆ ตามลักษณะของคำถาม  ส่วนในหมวดสุดท้าย คือ 'การปฏิบัติวิปัสสนา'นั้น เป็นคำอธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติให้แก่ผู้ปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท่านอาจารย์โกเอ็นก้ามักกล่าวอยู่เสมอๆ คือ  "ท่านต้องประจักษ์แจ้งในความเป็นจริงด้วยตนเอง นั่นจึงจะเป็นสัจจธรรมสำหรับท่าน   มิฉะนั้น ก็จะเป็นเพียงแค่สัจจธรรมของผู้อื่น"

ท่านยังเน้นย้ำแก่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาว่า คำตอบที่แท้จริงจะมาจากการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องเท่านั้น

ฉะนั้น คลังคำถาม-คำตอบเหล่านี้จึงเป็นเสมือนคำแนะนำและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา  ทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติได้มาเข้าร่วมการปฏิบัติในหลักสูตรวิปัสสนา  และได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่จากการปฏิบัตินั้นด้วยตนเองโดยตรง

ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงประสบกับความสุขโดยถ้วนหน้าด้วยเทอญ!

คำถามต่างๆ ได้จัดแบ่งไว้เป็นหมวดหมู่ดังนี้

กรรม  กระแสสั่นสะเทือน (Vibration)การกลับชาติมาเกิด การใช้คำภาวนา 
การปฏิบัติวิปัสสนา การปรุงแต่ง  การมีเพศสัมพันธ์ การรับใช้โดยปราศจากอัตตา
 การสะกดจิต การเสพติด การหลีกหนีจากความเป็นจริง การอดอาหาร
 ความกังวล ความโกรธ ความเจ็บปวด ความซื่อสัตย์
 ความตาย ความทุกข์ ความยึดมั่นถือมั่น ความสุข
 ความหลุดพ้น จักระ จิต เจดีย์วิปัสสนา
 ชีวิต เด็ก ธรรมะ ปม
 พระเจ้า พระพุทธเจ้า พลังแห่งธรรมะ มุทิตา (ความเบิกบานยินดี)
 เมตตาภาวนา โลก (ภูมิ) โลภะ (ความอยาก) ศีล
 สมาธิ สังคม สันติภาพ หลักสูตรในเรือนจำ
 หลักสูตรวิปัสสนา เหตุและผล อัตตา อาการนอนไม่หลับ
 อาตมัน อารมณ์ อาหาร อุเบกขา


















คำอธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนา



กรรม


1. เราจะหลบเลี่ยงกรรมได้อย่างไรครับ ?

ด้วยการเป็นนายเหนือจิตใจตัวเอง  วิปัสสนาจะสอนให้ท่านได้รู้จักกับวิธีการที่จะเป็นนายเหนือตัวเอง   หาไม่แล้ว รูปแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีเก่าๆ ของจิต จะผลักดันให้ท่านกระทำในสิ่งที่ตนเองไม่ปรารถนาอยู่เรื่อยไป   ถึงท่านจะมีความเข้าใจในระดับเชาว์ปัญญาว่า "ฉันไม่ควรก่อกรรมเหล่านี้"    แต่ท่านก็ยังคงทำสิ่งนั้น  เพราะไม่อาจควบคุมจิตใจตนเอง   ทว่าวิปัสสนาจะช่วยให้ท่านสามารถเป็นนายเหนือตนเองได้

2. การที่คนเรามีฐานะร่ำรวยถือเป็นกุศลกรรมใช่ไหมครับ ? ถ้าเช่นนั้น ก็หมายความว่าผู้คนส่วนใหญ่ในซีกโลกตะวันตกได้ทำกุศลกรรมเอาไว้มาก  ส่วนผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศโลกที่สามนั้นก่อแต่อกุศลกรรมหรือครับ ?

ลำพังความร่ำรวยไม่ถือเป็นกุศลกรรม   ถ้าเธอมีฐานะมั่งคั่ง ทว่ายังคงเต็มไปด้วยทุกข์   เช่นนั้นแล้ว ความร่ำรวยจะมีประโยชน์อะไร ?   ความร่ำรวยที่กอปรไปด้วยความสุขอย่างแท้จริง จึงจะนับเป็นกุศลกรรม   ไม่ว่าท่านจะร่ำรวยหรือไม่  ความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

3. ถ้าเหตุต่างๆ ก่อให้เกิดผลบางอย่างแล้ว เราจะมีทางหลีกพ้นจากกรรมของตัวเองได้อย่างไรครับ ?

เนื่องจากมีเหตุ   เหตุจากการที่ท่านมีความเข้าใจในสิ่งนี้จึงทำให้ท่านเกิดความเข้าใจ   เหตุแห่งความเข้าใจนี้จะช่วยให้ท่านหลุดพ้นจากการมีปฏิกิริยาในการสร้างสมสังขารใหม่ๆ (การปรุงแต่งของจิต)   ขณะที่เหตุแห่งความไม่รู้ทำให้เกิดการสร้างสมสังขารเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า   ส่วนเหตุแห่งปัญญานั้นจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากมัน   เหตุนั้นมีอยู่แล้ว  ทว่าตลอดเวลาท่านใช้แต่เหตุแห่งความไม่รู้  ท่านจึงต้องวนเวียนอยู่กับความทุกข์   ตอนนี้ การฝึกปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยให้ท่านรู้จักใช้เหตุแห่งปัญญา  ไม่สร้างสมสังขารใหม่ๆ อีกต่อไป 

กระแสสั่นสะเทือน(Vibration)

1. กระแสสั่นสะเทือนคืออะไร มีผลกระทบต่อเราอย่างไร ?

ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลล้วนเป็นกระแสสั่นสะเทือน  นี่ไม่ใช่ทฤษฏี หากแต่เป็นข้อเท็จจริง   จักรวาลทั้งหมดมิใช่อะไรอื่น นอกจากกระแสสั่นสะเทือน   กระแสสั่นสะเทือนที่ดีจะช่วยให้เรามีความสุข  ขณะที่กระแสสั่นสะเทือนที่ไม่ดีนั้นก่อให้เกิดทุกข์   วิปัสสนาจะช่วยให้ท่านก้าวพ้นจากผลกระทบของกระแสสั่นสะเทือนที่ไม่ดี อันเกิดจากจิตที่เต็มไปด้วยโลภะและโทสะ  เมื่อจิตอยู่ในภาวะที่สมดุลจริงๆ  กระแสสั่นสะเทือนย่อมจะดีไปด้วย   และกระแสสั่นสะเทือนที่ดีหรือไม่ดีที่ท่านสร้างขึ้นเหล่านี้ ก็จะเริ่มมีอิทธิพลต่อบรรยากาศรอบๆ ตัวท่าน   วิปัสสนาจะช่วยให้ท่านสร้างกระแสสั่นสะเทือนแห่งความบริสุทธิ์ ความกรุณาและความปรารถนาดี  อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเองและผู้คนทั้งหลาย

การกลับชาติมาเกิด

1. ท่านเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดหรือเปล่าครับ ?

ไม่ว่าข้าพเจ้าจะเชื่อเรื่องนี้หรือไม่  ก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับท่าน   ท่านต้องลงมือปฏิบัติ  แล้วท่านก็จะก้าวไปถึงขั้นที่สามารถมองเห็นอดีตและอนาคตของตัวเอง  ถึงตอนนั้นจึงค่อยเชื่อ   อย่าเชื่อเพียงเพราะครูอาจารย์ของท่านได้บอกกล่าวไว้เช่นนั้น   หาไม่แล้ว ท่านก็จะตกอยู่แต่ภายใต้อาณัติของครูอาจารย์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สวนกับธรรมะ

การใช้คำภาวนา

1. วิปัสสนาต่างจากวิธีการปฏิบัติสมาธิอื่นๆ ที่ใช้คำภาวนาอย่างไร  มันไม่ได้ทำให้จิตเป็นสมาธิเหมือนกันหรอกหรือ ?

แน่นอนว่าการใช้คำภาวนา การสร้างภาพนิมิตต่างๆ สามารถทำให้จิตเป็นสมาธิได้โดยง่าย    แต่วิปัสสนามีจุดมุ่งหมายเพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์  ส่วนการใช้คำภาวนาเป็นการสร้างกระแสสั่นสะเทือนบางอย่างที่ไม่เป็นธรรมชาติขึ้นมา มนต์ทุกคำทุกบทล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดกระแสสั่นสะเทือน   ถ้าท่องมนต์นี้ติดต่อกันหลายชั่วโมง  กระแสสั่นสะเทือนที่สร้างขึ้นนี้ก็จะครอบคลุมตัวคนผู้นั้นไว้   ในขณะที่วิปัสสนาต้องการให้ท่านเฝ้าสังเกตดูกระแสสั่นสะเทือนที่เป็นธรรมชาติภายในกายของท่าน -ในรูปของเวทนา-  กระแสสั่นสะเทือนยามที่ท่านโกรธ ยามที่ท่านเต็มไปด้วยราคะ ความกลัวหรือความเกลียด  ทั้งนี้ก็เพื่อให้ท่านได้หลุดพ้นจากมัน

การปฏิบัติวิปัสสนา

1. คนที่ทำงาน มีเวลาน้อย จะฝึกปฏิบัติวิปัสสนาได้อย่างไร ?

ยิ่งสมาธิมีความสำคัญต่อคนทำงานมากเท่าไร !   วิปัสสนาก็ยิ่งมีความจำเป็นต่อผู้ครองเรือนที่ต้องมีภาระรับผิดชอบในชีวิตมากขึ้นเท่านั้น  เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่มีแต่ความผันผวน อันจะทำให้เกิดความว้าวุ่นใจได้    แต่ถ้าพวกเขาเรียนรู้วิปัสสนา ก็จะช่วยให้สามารถเผชิญกับชีวิตได้ดีขึ้น สามารถตัดสินใจได้ดีและถูกต้อง  ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พวกเขาอย่างมาก

2. เราสามารถนำวิธีการปฏิบัติสองอย่างหรือมากกว่านั้นมาผสมผสานกันได้ไหม ?

ท่านจะนำวิธีการปฏิบัติอะไรมาผสมกันมากเท่าใดก็ได้ตามใจท่าน   แต่อย่านำมาผสมปนเปกับวิปัสสนา  เพราะวิปัสสนาเป็นวิธีการเฉพาะ  การนำไปผสมผสานกับวิธีอื่นนอกจากจะไม่ช่วยอะไรท่านแล้ว  ยังอาจทำร้ายท่านได้  จงรักษาวิปัสสนาให้บริสุทธิ์   วิธีอื่นเป็นการชำระจิตเพียงแค่พื้นผิวเท่านั้น   ขณะที่วิปัสสนาเป็นการผ่าตัดในระดับลึก เอาปมต่างๆ ออกจากก้นบึ้งของจิต    ถ้าท่านนำวิปัสสนาไปผสมผสานเข้ากับวิธีการอื่น  นั่นเท่ากับว่าท่านกำลังเล่นเกมที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองอย่างยิ่ง

3. ไม่เป็นการเห็นแก่ตัวหรอกหรือที่เอาแต่นั่งปฏิบัติสมาธิทั้งวัน โดยไม่สนใจใยดีต่อโลกภายนอก ?

สมาธิเป็นวิธีที่จะช่วยยกระดับจิตใจ  ไม่ใช่เห็นแก่ตัว   เวลาที่ร่างกายของท่านป่วย ท่านต้องไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว   เราคงไม่พูดว่า "ฉันกำลังเห็นแก่ตัวอยู่"   เรารู้ว่าไม่มีทางที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น โดยที่ร่างกายบาดเจ็บ หรือป่วยไข้   หรือไม่เราก็ไปที่ศูนย์ฝึกกีฬาเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง    ในทำนองเดียวกัน เราไม่ได้ไปอยู่ที่ศูนย์วิปัสสนาตลอดชีวิต  แต่ไปเพื่อพัฒนาจิตใจ   ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะจะเป็นผลดีต่อทั้งตนเองและผู้อื่น

4. ผมเข้าใจว่าสมาธิจะช่วยเหลือคนที่มีปัญหาทางอารมณ์ ไม่มีความสุข  แต่จะช่วยคนที่รู้สึกพอใจกับชีวิตมีความสุขอยู่แล้วได้อย่างไร ?

คนที่ยังพึงพอใจกับความสุขฉาบฉวยในชีวิต  คือคนที่ไม่รู้ว่าในส่วนลึกของจิตนั้นมีความว้าวุ่นอยู่   เขาจึงตกอยู่ภายใต้มายาภาพที่ว่าตัวเองมีความสุข  แต่ความสุขของเขาหาได้จีรังยั่งยืนตลอดไป  ความเครียดที่เกิดขึ้นในระดับลึกของจิตจะค่อยๆ เพิ่มพูน  จนกระทั่งปรากฏขึ้นมาบนพื้นผิวของจิตไม่ช้าก็เร็ว   พอสิ่งนี้เกิดขึ้น คนที่ได้ชื่อว่ามี 'ความสุข' ก็จะกลับกลายเป็นทุกข์ไป   เช่นนั้นแล้ว เหตุใดเราจึงไม่ลงมือปฏิบัติเสียตั้งแต่บัดนี้ เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ดังกล่าว ?

5. วิปัสสนาช่วยรักษาโรคได้หรือ ?

นั่นเป็นผลพลอยได้   โรคที่มีมูลเหตุมาจากจิตจะค่อยๆ ทุเลาลง เมื่อความตึงเครียดในใจสลายไป   ถ้าจิตว้าวุ่น อาการทางกายก็ย่อมทรุดลง   เมื่อจิตสงบและบริสุทธิ์ มันก็จะหายไปเอง   แต่ถ้าท่านมาปฏิบัติวิปัสสนาด้วยความมุ่งหวังเพื่อรักษาโรคแล้ว  แทนที่ตัวเองจะได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์  กลับจะไม่ได้อะไรสักอย่าง    ข้าพเจ้าพบว่าผู้ที่มาเข้ารับการอบรมด้วยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาโรค  จะมีความสนใจอยู่แต่กับโรคของตัวเองตลอดการอบรม  "วันนี้ ดีขึ้นไหม ? ไม่ ไม่ดีขึ้นเลย... วันนี้เปลี่ยนไปไหม ?  ไม่ ไม่เปลี่ยนไปเลย"   ตลอดสิบวัน ท่านเสียเวลาไปเช่นนี้   ตรงกันข้าม ถ้าท่านมีความตั้งใจที่จะชำระจิตให้บริสุทธิ์แล้ว  ผลจากการปฏิบัติก็ย่อมจะช่วยให้โรคต่างๆ หายไปเอง 

6. ท่านคิดอย่างไรกับการเปรียบเทียบจิตวิเคราะห์กับวิปัสสนา ?

ในแง่ของจิตวิเคราะห์  ท่านจะพยายามนึกทบทวนถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นในระดับจิตสำนึก ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการปรุงแต่งของจิต   ขณะที่วิปัสสนาจะนำผู้ปฏิบัติลงสู่ก้นบึ้งของจิตที่เป็นต้นตอจริงๆ ของการปรุงแต่ง   ทุกๆ เรื่องที่เราพยายามนึกทบทวนในแง่ของจิตวิเคราะห์นั้น  ปรากฎออกมาในรูปของเวทนาบนร่างกายเช่นกัน    การที่ผู้ปฏิบัติเฝ้าสังเกตเวทนาทั่วร่างกายด้วยใจที่เป็นอุเบกขา จะช่วยให้สังขารนับไม่ถ้วนชั้นแล้วชั้นเล่าผุดโผล่ขึ้นมา แล้วดับไป   เป็นการจัดการกับสังขารในระดับรากเหง้า  ซึ่งจะช่วยให้คนผู้นั้นสามารถหลุดพ้นจากมันได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย

7. แล้วเราต้องเข้าอบรมในหลักสูตรวิปัสสนากี่ครั้ง ?

ขึ้นอยู่กับ.. ข้าพเจ้าคงจะบอกให้ท่านมาลองเข้าอบรม 10 วัน  แล้วพิจารณาดูว่ามันช่วยตัวท่านเองอย่างไรบ้าง   ถ้าท่านพบว่าสามารถนำมันไปใช้ในชีวิตจริงได้  ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก   จากนั้น ท่านจึงค่อยมาเข้าอบรมใหม่   แต่ที่สำคัญ คือ ไม่ใช่มาเข้าอบรมเพียงแค่ในหลักสูตรเท่านั้น  หากต้องนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงด้วย   ถ้าชีวิตประจำวันของท่านมีวิปัสสนากำกับ  นั่นแสดงว่าท่านได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง   มิฉะนั้นแล้ว ลำพังแค่การมาเข้าอบรมในหลักสูตรย่อมไม่ช่วยอะไร 

8. วิธีการปฏิบัตินี้ไม่ใช่การให้ความสนใจแต่กับตัวเองหรือ ?  เช่นนั้นแล้ว เราจะมีความตื่นตัวในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไร ?

ขั้นแรกท่านต้องสนใจแต่ตัวเอง ต้องช่วยตัวเองก่อน   ถ้าท่านไม่ช่วยตัวเอง ก็ไม่อาจจะช่วยเหลือผู้อื่นได้   ผู้ที่อ่อนแอย่อมไม่อาจช่วยผู้ที่อ่อนแอด้วยกันได้   ท่านต้องทำให้ตัวเองเข้มแข็งเสียก่อน  แล้วนำพลังนี้ไปช่วยผู้อื่น  ทำให้ผู้อื่นเข้มแข็งด้วย  วิปัสสนาช่วยให้เราพัฒนาพลังนี้เพื่อช่วยผู้อื่น

9. ถ้าเราเอาแต่เฝ้าสังเกตตัวเองแล้ว เราจะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นธรรมชาติได้อย่างไร ?

เราจะหมกมุ่นอยู่กับการเฝ้าดูตัวเอง จนไม่สามารถทำตัวตามสบายหรือเป็นธรรมชาติ    นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผู้ปฏิบัติค้นพบในภายหลังจากการอบรม   ที่ศูนย์ฯ ท่านได้เรียนรู้การฝึกจิตที่จะช่วยให้สามารถเฝ้าสังเกตตัวเองในชีวิตประจำวันได้ตามต้องการ   ไม่ใช่ว่าท่านจะเอาแต่ปฏิบัติด้วยการหลับตาทั้งวันตลอดชีวิต  ทว่าการฝึกจิตจะช่วยให้ท่านมีพลัง  เหมือนกับพลังที่ได้จากการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน   สิ่งที่ท่านเรียกว่า ทำตัว "ตามสบาย  ตามธรรมชาติ" นั้น  แท้จริงแล้วคือการตอบโต้โดยไม่รู้เท่าทัน  ซึ่งมักจะเป็นอันตรายเสมอ   การเรียนรู้ที่จะเฝ้าสังเกตตัวเองจะช่วยให้ท่านพบว่า เมื่อใดก็ตามที่มีสถานการณ์ยุ่งยากเกิดขึ้นในชีวิต  ท่านจะสามารถรักษาความสมดุลของจิตเอาไว้ได้   และความสมดุลนี้เองที่จะช่วยให้ท่านสามารถตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างอิสระ  ท่านจะลงมือจริงๆ ทำในสิ่งที่เป็นกุศล ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นเสมอ

การปรุงแต่ง

1. ท่านพูดถึงเรื่องการปรุงแต่งของจิต  แต่วิธีการปฏิบัตินี้ไม่ใช่เป็นการปรุงแต่งจิตหรอกหรือ ถึงแม้จะเป็นไปในทางที่ดีก็ตาม ?

ตรงกันข้าม วิปัสสนาเป็นกระบวนการที่ลดการปรุงแต่ง  ขจัดสิ่งที่ไม่ดีเป็นอกุศล จนเหลือแต่สิ่งที่ดีเป็นกุศล  แทนการยัดเยียดสิ่งต่างๆ เข้าไปในใจ   การชำระกิเลสจะช่วยให้สิ่งดีๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติพื้นฐานของจิตที่บริสุทธิ์ปรากฎออกมา

การมีเพศสัมพันธ์

1. การมีเพศสัมพันธ์ภายใต้กรอบของวิปัสสนาเป็นอย่างไรครับ ?

สำหรับผู้ที่เพิ่งเข้ามาฝึกปฏิบัติวิปัสสนาใหม่ๆ  เราไม่ได้บอกว่าท่านต้องถือพรหมจรรย์โดยฝืนใจ   เพราะนั่นไม่ใช่เรื่องดี  กลับจะก่อให้เกิดปัญหา ความเครียด และปมมากยิ่งขึ้น    ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำแนะนำให้ผู้ปฏิบัติมีความสัมพันธ์เฉพาะกับคู่ครองของตน  แบบหญิงเดียว-ชายเดียว  มีสัมพันธ์อยู่ในกรอบ   และถ้าทั้งคู่เป็นนักปฏิบัติวิปัสสนา ความต้องการในเรื่องนี้ก็จะค่อยๆ ลดลงไปเอง  ไม่ใช่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์   พวกเขาจะมีความรู้สึกอิ่มเอมใจ มีความสุขอย่างมาก จนความสัมพันธ์ทางกายไม่มีความหมายอะไร   แต่นั่นต้องปล่อยให้เป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่ด้วยการเก็บกด    ฉะนั้น ผู้ที่เริ่มฝึกปฏิบัติวิปัสสนา จึงไม่จำเป็นต้องถือพรหมจรรย์   แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความสัมพันธ์กับคนๆ เดียวเท่านั้น  มิฉะนั้นแล้วก็จะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้เรื่อยไป ทำให้กามราคาะเพิ่มพูนขึ้น  จนไม่อาจจะหลุดพ้นจากมันได้

2. การมีเพศสัมพันธ์อยู่ในกรอบเป็นอย่างไรครับ ?

การมีสัมพันธ์อยู่ในกรอบ คือ การที่ท่านไม่ไปหมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องของกามารมณ์ ไม่มัวเมาในเรื่องเพศ   ถ้าคนผู้นั้นมีเพศสัมพันธ์แบบเปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆ  แสดงว่าเขาเป็นคนที่ไม่รู้จักข่มกลั้น   ถ้าท่านอยู่กินกับใครคนใดคนหนึ่ง ความสัมพันธ์ทางเพศจะค่อยๆ ลดลงเอง    แต่ถ้าท่านเที่ยวไปมีสัมพันธ์กับคนมากมาย มันก็จะเพิ่มพูนขึ้น  นี่เป็นกฎของธรรมชาติ   เมื่อท่านราดน้ำมันลงบนกองไฟ ไฟก็ย่อมจะคุโชนยิ่งขึ้น

3. การมีสัมพันธ์ทางเพศที่ถูกต้องกับไม่ถูกต้องนั้นต่างกันอย่างไร  เป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของเจตนาหรือเปล่าครับ ?

ไม่ใช่  การมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องปกติในชีวิตของผู้ครองเรือน ซึ่งไม่ควรไปฝืนเก็บกดไว้  เพราะการถือพรหมจรรย์โดยฝืนใจ  มีแต่จะก่อให้เกิดความเครียด สร้างปัญหายุ่งยากยิ่งขึ้น   แต่ถ้าท่านปล่อยตัวปล่อยใจไปมีสัมพันธ์กับคนอื่นๆ  เมื่อเกิดความต้องการขึ้นแล้วล่ะก็   ท่านจะไม่มีทางเป็นอิสระจากจิตที่เต็มไปด้วยความใคร่ได้เลย   จงหลีกเลี่ยงจากการกระทำที่สุดโต่งทั้งสองนี้   ธรรมะให้เราเดินทางสายกลาง  เราสามารถมีความสัมพันธ์อย่างเหมาะสม โดยที่ยังคงพัฒนาจิตวิญญาณไปด้วยได้   แต่ต้องเป็นความสัมพันธ์แบบหญิงเดียวชายเดียวที่ตกลงใจใช้ชีวิตร่วมกัน    และถ้าคู่ครองของท่านปฏิบัติวิปัสสนาด้วย  เมื่อมีความต้องการเกิดขึ้น ก็ขอให้พวกท่านทั้งคู่เฝ้าสังเกตดูมันไป ในรูปของเวทนาที่เกิดขึ้นบนร่างกายอย่างเช่นที่วิปัสสนาสอนให้ทำ  นี่ไม่ใช่ทั้งการเก็บกดและการปล่อยตัวปล่อยใจ   เพราะการเฝ้าสังเกตเวทนาจะช่วยให้ท่านสามารถปลดปล่อยตัวเองออกจากความใคร่ได้โดยง่าย   ถึงแม้คนทั้งคู่จะยังคงมีสัมพันธ์กันเป็นครั้งคราว  แต่ก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงจนถึงขั้นที่เพศสัมพันธ์ไม่มีความหมายอีกต่อไป  นั่นจึงจะเป็นการถือครองพรหมจรรย์ที่แท้จริงเป็นไปตามธรรมชาติ  ไม่มีแม้แต่ความคิดเรื่องกามราคะอยู่ในใจเลย   การถือพรหมจรรย์เช่นนี้ก่อให้เกิดความยินดีเบิกบานมากกว่าความพึงพอใจจากการมีเพศสัมพันธ์  เพราะคนผู้นั้นจะมีความรู้สึกอิ่มเอมใจ สงบอย่างยิ่ง   เราต้องเรียนรู้ที่จะประสบกับความสุขอย่างแท้จริงนี้

4. ในโลกตะวันตก  หลายๆ คนคิดว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายที่ยินยอมพร้อมใจกันนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับได้

ทรรศนะเช่นนั้นอยู่ห่างจากธรรมะ  คนที่มีความสัมพันธ์กับคนๆ หนึ่ง  แล้วเปลี่ยนไปมีความสัมพันธ์กับคนโน้นทีคนนี้ทีมีแต่จะเพิ่มพูนกามราคะและความทุกข์ให้แก่ตนเอง   ท่านต้องซื่อสัตย์กับคนๆ เดียวหรือไม่ก็มีชีวิตแบบพรหมจรรย์

การรับใช้โดยปราศจากอัตตา

1. เราจะทำอย่างไรให้การรับใช้โดยปราศจากอัตตากับการดูแลตัวเองเป็นไปอย่างสมดุล ?

(หัวเราะ) ถ้าเราไม่สามารถดูแลตัวเองแล้ว จะไปให้บริการผู้อื่นได้อย่างไร ?  ขั้นแรก ท่านต้องดูแลตัวเองก่อน  จากนั้น จึงจะเริ่มให้การรับใช้อย่างปราศจากอัตตาได้

การสะกดจิต

1. การสะกดจิตต่างจากการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาอย่างไร ?

วิธีการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาที่แท้จริงของอินเดียในสมัยโบราณนั้น ต่างจากการสะกดจิตโดยสิ้นเชิง  แม้จะมีวิธีการปฏิบัติบางอย่างที่ใช้การสะกดจิต  แต่นั่นก็ขัดกับหลักธรรมโดยสิ้นเชิง   ธรรมะสอนให้ท่านพึ่งตนเอง  แต่การสะกดจิตไม่ได้ช่วยให้ท่านพึ่งตนเอง   ดังนั้น ทั้งสองสิ่งจึงไปด้วยกันไม่ได้

การเสพติด

1. เราจะเลี่ยงจากการเสพติด อย่างเช่น การสูบบุหรี่ได้อย่างไรครับ ?

การเสพติดมีหลายประเภท   เมื่อท่านปฏิบัติวิปัสสนา ท่านจะเข้าใจว่าสิ่งที่ท่านติดนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่สารเสพติด   แม้จะดูเหมือนว่าท่านติดบุหรี่ เหล้า ยาเสพติด หมาก   แต่อันที่จริง ท่านกำลังติดความรู้สึกบางอย่างในร่างกาย ซึ่งเป็นกระแสไหลเวียนของชีวเคมีที่เกิดขึ้นเนื่องจากสารเสพติดนั้นๆ   ในทำนองเดียวกัน เวลาที่ท่านติดอยู่กับโทสะ กามราคะ  ฯลฯ  ก็มีความเกี่ยวพันกับเวทนาในร่างกายด้วย   สิ่งที่ท่านติดคือเวทนา  วิปัสสนาจะช่วยให้ท่านออกมาจากการเสพติดสิ่งต่างๆ นี่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นธรรมชาติ   ขอให้ลองพยายามดู แล้วท่านจะเห็นว่ามันให้ผลเช่นไร

การหลีกหนีจากความเป็นจริง

1. วิปัสสนาต่างจากการหลีกหนีความเป็นจริงอย่างไร ?

วิปัสสนาคือการเผชิญหน้ากับโลก โดยไม่หลีกหนีจากความเป็นจริง

การอดอาหาร

1. ผมอยากทราบว่าผมจะอดอาหารได้ไหมครับ ?

ไม่ได้  การอดอาหารไม่เหมาะกับวิธีการปฏิบัตินี้   เราต้องไม่อดอาหารหรือกินมากจนเกินไป  แต่ต้องเดินทางสายกลาง   กินน้อยลงเท่าที่จำเป็นกับร่างกาย  ก็พอแล้ว    หลังเสร็จสิ้นจากการอบรม ท่านจะอดอาหารเพื่อสุขภาพก็ได้  แต่ในระหว่างการปฏิบัติ ไม่มีความจำเป็นต้องอดอาหาร



ความกังวล

1. ผมมีเรื่องกังวลใจอยู่ตลอดเวลา วิปัสสนาจะช่วยได้ไหมครับ ?

ช่วยได้แน่นอน  เพราะวิปัสสนามีวัตถุประสงค์เพื่อปลดปล่อยท่านให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง  ความวิตกกังวลเป็นทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากมีความไม่บริสุทธิ์บางอย่างฝังลึกอยู่ในตัวท่าน   การปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยให้ความไม่บริสุทธิ์เหล่านี้ผุดโผล่ขึ้นมาบนพื้นผิว และค่อยๆ ดับไป  ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยเวลา  ไม่ใช่เรื่องของเวทมนต์ ปาฏิหาริย์หรือเพราะครูอาจารย์   คนอื่นเพียงแค่ชี้เส้นทางที่ถูกต้องให้แก่ท่าน   ท่านต้องเดินไปบนเส้นทางนั้นเอง เพื่อปลดปล่อยตัวเองออกจากทุกข์ 

ความโกรธ

1. เราจะหลีกหนีจากความโกรธได้อย่างไร ?

ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนา !  ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจะต้องเฝ้าสังเกตลมหายใจ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกายในขณะโกรธ  ด้วยใจที่เป็นอุเบกขา ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ   แล้วไม่ช้า ความโกรธก็จะอ่อนกำลังลง และดับไป   การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจะช่วยเปลี่ยนแปลงรูปแบบความเคยชินเก่าๆ ของจิตที่ชอบมีปฏิกิริยาต่อความโกรธ

2. ผมไม่สามารถกลั้นโทสะเอาไว้ได้  แม้จะพยายามแล้วก็ตาม

อย่าไปกลั้น  แต่ให้เฝ้าสังเกตดูมัน   ยิ่งท่านกลั้นมันมากเท่าใด มันก็จะยิ่งหยั่งลึกเข้าไปในจิตของท่านมากเท่านั้นแล้วปมนี้ก็จะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ  จนยากจะหลุดพ้นจากมันได้   ไม่ใช่กลั้น ไม่ใช่แสดงออก  เพียงแค่เฝ้าสังเกตดูมันไปเฉยๆ

ความเจ็บปวด

1. จะรักษาจิตให้สมดุลได้อย่างไร ในยามที่เราเจ็บปวด ?

เมื่อมีอะไรก็ตามที่เราไม่ชอบใจเกิดขึ้นในโลกภายนอก จะมีเวทนาที่ไม่น่าพอใจเกิดขึ้นในร่างกายด้วย   ผู้ปฏิบัติต้องเพ่งความสนใจทั้งหมดไปที่เวทนาเหล่านี้ โดยไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้   เพียงแค่เฝ้าสังเกตดูอย่างเป็นกลางจริงๆ  ถึงจะเป็นเรื่องยากในตอนแรก  แต่เราก็จะค่อยๆ สามารถเฝ้าสังเกตเวทนาหยาบๆ ที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งเราเรียกว่าความเจ็บปวดได้  ด้วยจิตที่สงบ มีสมดุลขึ้น   พอใจ ไม่น่าพอใจ ไม่มีอะไรต่างกัน   ทุกๆ เวทนาเกิดขึ้นเพียงเพื่อที่จะดับไป  ทำไมจึงต้องไปตอบโต้กับสิ่งที่ไม่เที่ยงนี้ด้วย 

ความซื่อสัตย์

1. โดยอาชีพการงานของผม ต้องมีความไม่ซื่อสัตย์เข้ามาเกี่ยวข้อง  แต่ผมก็เปลี่ยนงานไม่ได้ เพราะจะมีปัญหายุ่งยากตามมาอีกมาก ?

ท่านต้องปฏิบัติวิปัสสนา  แล้วจิตของท่านจะเข้มแข็งขึ้น  ตอนนี้ท่านเป็นทาสของจิต และจิตก็จะคอยแต่บังคับให้ท่านทำสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการ   การปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยให้ท่านมีความเข้มแข็งที่จะก้าวออกมาจากมันได้โดยง่ายแล้วท่านจะพบกับอาชีพอื่นที่มีประโยชน์ ที่ดีงามแก่ตัวท่านเอง

ความตาย

1. เราจะนำวิปัสสนาไปใช้ในขณะตายได้อย่างไร ?

เวลาที่คนอื่นตาย ท่านเพียงแต่นั่งลง แล้วแผ่เมตตา   และเมื่อถึงคราวของท่าน ก็ให้เฝ้าสังเกตเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น  ทุกคนต้องสังเกตความตายของตนเอง  กำลังเกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้น  กำลังดับไป กำลังดับไป กำลังดับไป  ดับ!  มีความสุข!

ความทุกข์

1. ทำไมคนอื่นต้องสร้างทุกข์ให้กับเราด้วย ?

ไม่มีใครทำให้ท่านเป็นทุกข์   ท่านต่างหากที่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ ด้วยการสร้างความเครียดขึ้นในใจ   ถ้าท่านรู้จักที่จะไม่ทำเช่นนั้น  ก็เป็นการง่ายที่จะรักษาความสงบและความสุขเอาไว้ได้ในทุกสถานการณ์

2. เราจะทำอย่างไร เวลาที่มีคนทำไม่ดีกับเรา ?

ท่านต้องไม่ปล่อยให้คนอื่นทำไม่ดีกับท่าน   เมื่อใดก็ตามที่เขากระทำผิด ทำร้ายผู้อื่น  ในเวลานั้นเขาได้ทำร้ายตัวเองด้วย    ถ้าท่านปล่อยให้เขาทำผิด เท่ากับว่าท่านกำลังส่งเสริมให้เขาทำผิด   ท่านจึงต้องพยายามหาทางหยุดยั้งเขา  แต่ก็ต้องกระทำด้วยความปรารถนาดี ด้วยความกรุณา และเห็นใจคนผู้นั้น   ถ้าท่านกระทำไปด้วยความเกลียดชังหรือด้วยโทสะแล้ว ก็มีแต่จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง   ทว่าท่านจะไม่สามารถปรารถนาดีต่อคนผู้นั้นได้เลย ถ้าหากจิตของท่านไม่สงบเย็น    ฉะนั้น ท่านต้องปฏิบัติเพื่อให้ตัวเองเกิดความสงบก่อน  แล้วจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้

3. ความทุกข์ไม่ใช่ธรรมชาติส่วนหนึ่งของชีวิตหรือ  ทำไมถึงต้องพยายามหนีมันด้วย ?

เราเผชิญกับความทุกข์มากมายเสียจนดูเหมือนว่า การหลุดพ้นจากทุกข์เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ   แต่เมื่อท่านได้พบกับความสุขอันแท้จริงจากจิตที่บริสุทธิ์แล้ว  ท่านก็จะรู้ว่านั่นคือสภาวะธรรมชาติของจิต

4. ความทุกข์ไม่ช่วยให้คนเราประเสริฐขึ้น เติบโตขึ้นหรอกหรือ ?

ใช่   อันที่จริง วิธีการปฏิบัตินี้ได้นำความทุกข์มาใช้ด้วยความระมัดระวัง  เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คนผู้นั้นได้เป็นบุคคลผู้ประเสริฐ   ทว่านั่นจะได้ผล ก็ต่อเมื่อท่านเรียนรู้ที่จะเฝ้าสังเกตทุกข์ด้วยใจที่เป็นกลาง   แต่ถ้าท่านยึดมั่นอยู่กับความทุกข์ของตัวเอง มันก็จะไม่ช่วยให้ท่านประเสริฐขึ้น  หากจะยังคงเป็นทุกข์เช่นเดิม

5. คนที่ทำผิด จะได้รับทุกข์ในภายหลังใช่ไหม ?

ไม่ ไม่ใช่ในภายหลัง  แต่ว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้ !  กฎธรรมชาติจะลงโทษโดยทันที  เราจะเริ่มสร้างสมกิเลสขึ้นในใจ ณ ตอนนั้น   เราไม่สามารถสร้างสมกิเลส โดยที่ยังคงความสงบไปด้วยได้  ความทุกข์ย่อมจะเกิดขึ้นมาทันที   ต่อเมื่อท่านตระหนักถึงความทุกข์ที่อยู่เบื้องหน้า ณ เวลานี้แล้วเท่านั้น  ท่านจึงจะเปลี่ยนแปลงนิสัยเก่าๆ ที่ชอบสร้างสมกิเลส ซึ่งนำไปสู่กายกรรมและวจีกรรมอันเป็นอกุศลได้    ถ้าท่านคิดว่า "ฉันจะได้รับโทษในภายหน้าเท่านั้น  ตอนนี้ ไม่เป็นไร"  นั่นก็ไม่ช่วยอะไร

ความยึดมั่นถือมั่น

1. ท่านบอกไม่ให้เรายึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ  แล้วตัวบุคคลล่ะ ?

ใช่แล้ว  รวมทั้งตัวบุคคลด้วย   การที่ท่านมีความรักอย่างแท้จริงให้กับใครคนหนึ่ง มีความเมตตาต่อคนผู้นั้น ย่อมต่างกันโดยสิ้นเชิง   แต่ถ้าท่านมีความยึดมั่นถือมั่น นั่นแสดงว่าท่านปราศจากความรัก  ท่านรักแต่ตัวเอง เพราะคาดหวังบางอย่าง-วัตถุข้าวของ, ความรู้สึก ฯลฯ จากคนผู้นั้น   ท่านกำลังคาดหวังว่าจะได้รับบางอย่างตอบแทนจากคนที่ท่านยึดมั่นถือมั่น   หากท่านได้เริ่มต้นรักคนผู้นั้นจริงๆ  ท่านจะมีแต่ให้เท่านั้น  โดยไม่คาดหวังสิ่งตอบแทน  แล้วความยึดมั่นถือมั่นก็จะหมดไป  ไม่มีความเครียด  ท่านจะมีความสุขอย่างยิ่ง

2. โลกจะดำเนินไปโดยปราศจากความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร ?

ถ้าพ่อแม่วางเฉย ก็จะไม่อาจดูแลได้แม้แต่ลูกๆ ของตน   เช่นนั้นแล้ว จะเป็นไปได้อย่างไรที่ในชีวิตเราจะรักหรือเกี่ยวข้องกันโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ?   การวางเฉยไม่ได้หมายถึงการเฉยชา  ที่ถูกควรเรียกว่า "การปล่อยวาง"   ในฐานะของพ่อแม่ ท่านต้องรับผิดชอบดูแลลูกๆ ด้วยความรัก  ทว่าต้องไม่มีความยึดมั่น   แล้วท่านจะทำหน้าที่ของตัวเองด้วยความรักที่บริสุทธิ์ ปราศจากความเห็นแก่ตัว   สมมติว่าท่านเฝ้าพยาบาลผู้ป่วยคนหนึ่งอยู่  แต่อาการของเขาไม่ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ท่านคอยดูแลเอาใจใส่  ท่านก็ไม่ต้องร้องไห้เสียใจ  เพราะนั่นไม่มีประโยชน์    จิตใจที่สมดุลจะทำให้ท่านพยายามหาทางอื่นเพื่อช่วยเขา  นี่คือการปล่อยวาง  ไม่ใช่การเฉยชาหรือว้าวุ่น   แต่เป็นการกระทำด้วยจิตที่มีสมดุล เป็นกุศลจริงๆ      

3. การทำดีไม่เป็นการยึดมั่นถือมั่นหรอกหรือ ?

ไม่เลย  ท่านเพียงแต่พยายามอย่างเต็มที่  โดยมีความเข้าใจว่าผลนั้นอยู่นอกเหนือการควบคุมของท่าน   ท่านแค่ทำหน้าที่ของท่านไป ปล่อยให้ผลเป็นเรื่องของธรรมะ ธรรมชาติ...ถ้าอย่างนั้น ก็มีโอกาสผิดพลาดนะสิครับ ?

ถ้าท่านทำผิดพลาด ก็จงยอมรับ  และพยายามอย่าให้เกิดความผิดผลาดเช่นนั้นในครั้งต่อไป  แต่ถ้าท่านล้มเหลวอีก  ก็จงยิ้มสู้ แล้วพยายามหาหนทางอื่นดู   ถ้าท่านสามารถยิ้มรับเมื่อเผชิญกับความล้มเหลว  นั่นแสดงว่าท่านเป็นคนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น   แต่ถ้าท่านหดหู่เมื่อล้มเหลว และลำพองใจเมื่อประสบกับความสำเร็จแล้ว  ก็แสดงว่าท่านเป็นคนที่มีความยึดมั่นถือมั่นอย่างแน่นอน


ความสุข

1. ท่านบอกว่าวิปัสสนาจะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง  แต่การมีความสุขสงบ แม้ในยามที่เผชิญกับทุกข์ของผู้อื่นนั้น ไม่ใช่ความเย็นชาหรอกหรือ ?

การรับรู้ทุกข์ของผู้อื่นไม่ได้หมายความว่าท่านต้องทำตัวให้เศร้าสร้อยไปด้วย   ทว่าท่านต้องรักษาความสงบและความมีสมดุลเอาไว้ จะได้สามารถช่วยคลายทุกข์ให้แก่ผู้อื่น   ถ้าท่านเศร้าสร้อย ก็มีแต่จะเพิ่มพูนความทุกข์ให้แก่คนรอบข้าง  ท่านไม่ได้ช่วยผู้อื่น และก็ไม่ได้ช่วยตัวเอง   ด้วยเหตุนี้ ท่านอูบาขิ่นอาจารย์ของข้าพเจ้าจึงได้กล่าวว่า การจะช่วยให้จิตที่ไร้สมดุลของผู้อื่นกลับมามีสมดุลได้นั้น จำเป็นจะต้องอาศัยจิตที่สมดุล 

2. เราจะมีความสุขอย่างแท้จริงและเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงได้ด้วยวิปัสสนาหรือ ?

ต้องค่อยเป็นค่อยไป   เมื่อเริ่มปฏิบัติไป ท่านจะพบว่าตัวเองมีความสุขมากขึ้น มากขึ้น  จนกระทั่งมีความสุขอย่างเต็มเปี่ยมในที่สุด   ท่านจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป จนถึงขั้นที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง  ต้องค่อยเป็นค่อยไป

ความหลุดพ้น

1. มีผู้ที่หลุดพ้นอยู่จริงๆ ในปัจจุบันด้วยหรือ ? 

ใช่แล้ว  วิปัสสนาเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น  ยิ่งท่านหลุดพ้นจากความไม่บริสุทธิ์มากเท่าใด ท่านก็เป็นอิสระมากขึ้นเท่านั้น  และก็มีผู้เข้าถึงสภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงอยู่จริงๆ

2. การปฏิบัติวิปัสสนาเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นหรือ ?

ใช่แล้ว  ลำพังแค่การยอมรับด้วยศรัทธาอย่างมืดบอดย่อมไม่ช่วยอะไร   ท่านต้องปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นของตนเองท่านต้องค้นหาว่าพันธนาการอยู่ที่ไหน จากนั้นก็ต้องออกมาจากพันธนาการนั้น  นี้คือวิปัสสนา   วิปัสสนาช่วยให้เราได้พบกับต้นตอจริงๆ ของพันธนาการ  ต้นตอจริงๆ ของทุกข์โดยตรง  และช่วยให้เราค่อยๆ ก้าวออกมาจากทุกข์ทั้งหลาย  ฉะนั้น ความหลุดพ้นจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนา              



จักระ

1. วิปัสสนามีผลอย่างไรต่อจักระ ?

จักระเป็นเพียงศูนย์กลางของเส้นประสาทในกระดูกสันหลัง  วิปัสสนาจะช่วยให้ท่านเข้าถึงสภาวะที่สามารถรู้สึกถึงการกระเพื่อมไหวของทุกๆ อนุปรมาณูในร่างกาย   จักระเป็นแค่ส่วนหนึ่ง  เราจะรับรู้การกระเพื่อมไหวนี้ได้ทั่วร่างกาย

จิต

1. จิตคืออะไร ?  อยู่ที่ไหน ?

จิตอยู่ในทุกๆ อณูของกายท่าน  ท่านจะเข้าใจสิ่งนี้ได้ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนา  วิปัสสนาจะช่วยให้ท่านสามารถศึกษาวิเคราะห์จิตและกาย  รวมทั้งปฏิกิริยาที่พวกมันมีต่อกัน

2. ที่ท่านพูดถึงการขจัดสิ่งที่เป็นอกุศลออกจากจิตนั้น หมายถึงอะไร ?

ก็เหมือนกับที่ในตัวของท่านมีอารมณ์ ความรู้สึกหดหู่ ความรู้สึกมุ่งร้ายต่อผู้อื่น   อารมณ์เหล่านี้เป็นอกุศล ทำให้ท่านไม่มีความสุข   มันจะคอยทำร้ายท่าน และท่านก็จะทำร้ายผู้อื่น   เมื่ออารมณ์เหล่านี้ถูกขจัดออกไปทีละน้อย ทีละน้อย  จิตของท่านก็จะพบกับความสงบอย่างยิ่ง 

3. จิตเกี่ยวข้องกับสมองอย่างไร ?

สมองเป็นแค่อวัยวะ  ท่านจึงปฏิบัติต่อสมองเหมือนเช่นที่ปฏิบัติต่อร่างกายส่วนอื่นๆ   ไม่ต้องทำอะไรกับมันเป็นพิเศษ   แต่จิตนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง  ในโลกตะวันตกให้ความสำคัญกับสมองราวกับเป็นที่ตั้งของจิต  จิตนั้นอยู่ทุกหนแห่งทั่วร่างกาย   ฉะนั้น จงให้ความสนใจทั่วทั้งร่างกาย

4. การชำระร่างกายถือเป็นการชำระจิตใจด้วยหรือไม่ ?

ไม่เลย  ถึงท่านจะชำระร่างกาย แต่จิตก็ยังคงสกปรก  ทั้งยังจะทำให้ร่างกายแปดเปื้อนอีกด้วย   ฉะนั้น ต้นตอจึงอยู่ที่จิต ไม่ใช่ร่างกาย  ร่างกายเป็นเพียงฐานที่ตั้งซึ่งช่วยให้จิตทำงานได้  ทว่าจิตต้องได้รับการชำระให้บริสุทธิ์   ท่านทำความสะอาดร่างกายบ่อยครั้งเท่าที่จะทำได้  แต่กลับไม่ได้ทำความสะอาดจิต  จิตจึงยังคงขุ่นมัว  ทั้งๆ ที่มันต้องบริสุทธิ์  ตรงกันข้าม ถ้าท่านชำระจิตให้บริสุทธิ์ ผลก็คือร่างกายจะบริสุทธิ์ด้วย   จุดมุ่งหมายของวิปัสสนานั้นเป็นไปเพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์

5. ท่านบอกว่าเรากำลังปฏิบัติ(ระหว่างชั่วโมงอานาปานสติ) เพื่อลับจิตให้แหลมคม  จิตจะแหลมคมได้อย่างไร ?

ถ้าท่านอยู่กับความเป็นจริง โดยไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้  จิตก็จะค่อยๆ แหลมคมขึ้นเอง  จิตจะมัวหม่นเมื่อมีการตอบโต้  ยิ่งตอบโต้มากเท่าใด จิตก็จะหยาบมากเท่านั้น   เมื่อท่านไม่ตอบโต้ จิตก็จะค่อยๆ แหลมคมขึ้น รับรู้ได้ไวขึ้น 

เจดีย์วิปัสสนา

1. มีคนเป็นห่วงกันว่าเจดีย์ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในเมืองมุมไบ จะทำให้วิปัสสนากลายเป็นลัทธินิกายไป ?

ถ้าครูคนนี้ยังมีชีวิต  ท่านจะเห็นว่าครูคนนี้เข้มงวดมาก จนไม่ยอมให้สิ่งที่เราทำอยู่นี้เปลี่ยนแปลงไปเป็นลัทธินิกายได้   ถ้าเจดีย์จะทำให้คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับกลายเป็นลัทธินิกายหรือศาสนาที่ถูกจัดตั้งแล้ว  คำสอนทั้งหมดของเราก็จะกลับกลายเป็นโคลนตมไป   หรือถ้าเจดีย์นี้มีไว้สำหรับให้คนมาสวดอ้อนวอน  "โอ้ เจดีย์  โปรดประทานสิ่งนี้แก่ฉัน  โปรดมอบสิ่งนั้นแก่ฉัน  ฉันต้องการสิ่งนี้  ฉันต้องการสิ่งนั้น" แล้ว   ทั้งหมดก็ย่อมจะกลายเป็นศาสนาที่ถูกจัดตั้งอย่างแน่นอน

แต่เรากำลังจะใช้เจดีย์อย่างถูกต้องตามวิถีธรรม  นั่นคือ เจดีย์จะเป็นสิ่งที่บอกกล่าวให้ผู้คนรู้จักวิปัสสนามากขึ้น มากขึ้นเท่านั้น   ในตอนแรกพวกเขาจะมาเยี่ยมชมเจดีย์ด้วยความอยากรู้อยากเห็น  "ช่างสง่างามอะไรเช่นนี้  มีอะไรอยู่ข้างในนั้นนะ ?"   และเมื่อพวกเขาเข้ามา ก็จะได้รับความรู้  "ดูสิ พระองค์คือพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าเป็นใครกัน  พระองค์ทรงสอนอะไร  ชีวิตของพระองค์เป็นอย่างไร   วิปัสสนาทำให้พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า  วิปัสสนาทำให้พระองค์ทรงเป็นธรรมาจารย์ผู้ประเสริฐของโลก  ทำให้ผู้คนได้รับประโยชน์มากมาย"   เราจะให้ความรู้ดังกล่าว   สมมติว่ามีคนมาเยี่ยมชมหมื่นคน  แม้จะมีเพียงร้อยคนที่รับประโยชน์  แต่ที่เหลืออย่างน้อยก็ได้รับความรู้ที่ถูกต้องกลับไป   ฉะนั้น เราจะเห็นว่าเจดีย์นี้ไม่ได้สร้างลัทธินิกายอะไร   มิฉะนั้นแล้ว ก็ย่อมจะผิดไปจากวัตถุประสงค์



ชีวิต

1. ท่านคิดว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายของชีวิต ?

คือการดับทุกข์  มนุษย์มีศักยภาพอันแสนวิเศษที่จะสำรวจลึกเข้าไปข้างใน เฝ้าสังเกตดูความเป็นจริง และก้าวออกมาจากทุกข์   หากเราไม่รู้จักใช้ศักยภาพนี้ ก็นับว่าสูญเปล่า   จงใช้มัน เพื่อชีวิตที่ดีงาม มีความสุขจริงๆ ! 

2. เราจะฝึกปฏิบัติวิปัสสนาในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ?

มาเข้าอบรมวิปัสสนาก่อน  แล้วท่านจะเข้าใจว่าจะนำวิปัสสนาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร   ถ้าท่านมาเข้าอบรม  แล้วไม่นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง  วิปัสสนาก็ย่อมจะเป็นเพียงพิธีกรรมหรือพิธีทางศาสนาเท่านั้น  ไม่อาจช่วยอะไรท่านได้เลย

3. ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร ?

เราเกิดและตายอยู่ทุกขณะ  จงทำความเข้าใจกับกระบวนการของชีวิตและความตายนี้  นั่นจะทำให้ท่านมีความสุขจริงๆ  แล้วท่านก็จะเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังความตาย

4. เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคืออะไร ?

เป้าหมายสูงสุดของชีวิตอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้   ถ้าท่านเฝ้าแต่มองหาบางสิ่งบางอย่างในอนาคต  ทว่าตอนนี้ไม่ได้รับอะไรเลย  นั่นก็จะเป็นโมหะ   ถ้าท่านเริ่มสัมผัสกับความสงบสุขในเวลานี้  ท่านก็ย่อมจะไปถึงจุดหมายปลายทาง  ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากความสงบสุขได้   ฉะนั้น จงสัมผัสกับมันเสียตั้งแต่บัดนี้ ชั่วขณะนี้  แล้วท่านจึงจะอยู่บนหนทางที่ถูกต้องอย่างแท้จริง   



เด็ก

1. ท่านมีความเห็นอย่างไรกับการสอนธรรมะให้แก่เด็กๆ ?

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสอนธรรมะคือก่อนเด็กเกิด   ในระหว่างตั้งครรภ์ แม่ควรฝึกปฏิบัติวิปัสสนา  เพื่อให้ลูกได้รับธรรมะ  และเกิดมาเป็นธรรมบุตร   แต่ถ้าท่านมีลูกอยู่แล้ว ก็ยังสามารถแบ่งปันธรรมะให้แก่พวกเขาได้  ถ้าเด็กยังเล็ก (ต่ำกว่า 8 ปี) ก็ขอให้ท่านแผ่เมตตา (วิธีการปฏิบัติเมตตาภาวนา เพื่อแบ่งปันกระแสแห่งความปรารถนาดีและความเมตตาแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย  ซึ่งสอนในตอนเช้าวันที่สิบของหลักสูตรวิปัสสนา) แก่พวกเขาหลังการนั่งทุกครั้งและในเวลาที่พวกเขาเข้านอน   วิธีนี้จะทำให้ลูกๆ ได้รับอานิสงส์จากการปฏิบัติธรรมของท่าน  และเมื่อพวกเขาโตขึ้น ก็ค่อยๆ อธิบายธรรมะให้พวกเขาเข้าใจและยอมรับทีละน้อย   ถ้าพวกเขาสามารถเข้าใจได้มากขึ้น ก็ให้สอนอานาสัก 2-3 นาที  แต่อย่าไปบีบคั้นพวกเขา  แค่ให้ลูกๆ นั่งกับท่าน แล้วเฝ้าดูลมหายใจสัก 2-3 นาที  จากนั้นก็ปล่อยให้ไปเล่น   การทำสมาธิจะเป็นเหมือนการเล่นที่ทำให้เขารู้สึกเพลิดเพลิน   สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ตัวท่านเองต้องดำเนินชีวิตอยู่ในครร-ลองธรรม  เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกๆ   ท่านต้องทำให้บรรยากาศภายในบ้านมีความสงบสุข  ซึ่งนั่นจะช่วยให้พวกเขาเติบโตเป็นคนดีมีความสุข   นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ท่านจะทำให้แก่ลูกๆ ได้

2. ท่านมีคำแนะนำอะไรแก่แม่ลูกอ่อนที่พยายามจะปฏิบัติวิปัสสนาคะ

ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลย  ถึงลูกจะอยู่บนตัก ท่านก็ยังสามารถปฏิบัติได้  ท่านสามารถแผ่เมตตาให้แก่ลูก แก่ผู้อื่น   ท่านต้องเรียนรู้วิธีที่จะนำธรรมะไปใช้ในทุกสถานการณ์   จงน้อมนำธรรมะไปใช้ในภารกิจต่างๆ ของท่าน   ภารกิจของแม่ ก็คือ การเลี้ยงดูลูกตามครรลองธรรม

3. วิปัสสนามีความจำเป็นกับการศึกษาหรือ ?

แน่นอน  วิปัสสนาเป็นศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิตที่ใช้ได้จริง  คนรุ่นหลังควรเรียนรู้ศาสตร์นี้ให้มาก ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ  เพื่อพวกเขาจะได้มีชีวิตที่สุขสงบ   ถ้าพวกเขาเข้าใจธรรมะที่บริสุทธิ์หรือกฎธรรมชาติแล้ว ก็ย่อมจะดำเนินชีวิตไปตามกฎธรรมชาติ   การสอนวิปัสสนาให้แก่เด็กๆ ตามโรงเรียนและวิทยาลัย อย่างที่ทำกันในบางเมืองขณะนี้  ให้ผลที่ดีมาก



ธรรมะ

1. ธรรมะคืออะไร ?

สิ่งที่อยู่ในจิตขณะนี้ก็คือธรรมะ  ธรรมะคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่

2. ธรรมะเกี่ยวข้องอะไรกับคนเดินถนนที่ท้องยังหิวโซ ?

มีผู้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในสลัมมาเข้ารับการอบรมวิปัสสนา และพบว่ามันมีประโยชน์อย่างยิ่ง   ถึงท้องของพวกเขาจะว่าง แต่จิตใจนั้นเต็มไปด้วยความปั่นป่วน   วิปัสสนาช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะสงบใจและวางอุเบกขา   พวกเขาจึงสามารถเผชิญกับปัญหาของตนเอง   เราจะสังเกตเห็นได้ว่าชีวิตของพวกเขาดีขึ้น  สามารถเลิกเหล้า การพนัน ฯลฯ ได้  ธรรมะเอื้อประโยชน์แก่ทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน  

3. คนที่มีธรรมจริงๆ จะเผชิญกับโลกอธรรมนี้ได้อย่างไร ?

อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงโลกอธรรม  แต่จงพยายามเปลี่ยนแปลงอธรรมในตัวท่าน อาการที่ท่านตอบโต้และทำให้ตัวเองเป็นทุกข์   ยกตัวอย่างเช่น  เมื่อมีคนมาด่าว่าท่าน ก็จงเข้าใจว่าคนผู้นั้นกำลังเป็นทุกข์  นั่นเป็นปัญหาของเขาทำไมถึงเอามาเป็นปัญหาของตัวเอง ?  ทำไมต้องเพาะโทสะ ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ ?   ถ้าท่านทำเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าท่านไม่ได้เป็นนายของตัวเอง  แต่เป็นทาสของผู้อื่น  เขาสามารถทำให้ท่านเป็นทุกข์ได้ตามที่เขาต้องการ   จงเป็นนายของตัวเอง  แล้วท่านจะสามารถมีชีวิตอยู่กับธรรมะ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอธรรมรอบๆ ตัวท่านได้

4. ท่านคิดว่าธรรมะกับศาสนาเหมือนกันตรงไหน ?

ถ้าศาสนามีนัยในแง่ของลัทธินิกาย อย่าง ศาสนาฮินดู หรือศาสนามุสลิม หรือศาสนาพุทธ  ฯลฯ แล้ว  นั่นสวนทางกับธรรมะโดยสิ้นเชิง   แต่ถ้าศาสนามีนัยในแง่ของกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติอันเป็นสากลแล้ว  ก็ย่อมเหมือนกับธรรมะ

5. ท่านเชื่อว่าธรรมะสามารถชี้นำทางให้ท่านหรือ ?

แน่นอนที่สุด ธรรมะกำลังชี้นำทางท่าน   เมื่อจิตได้รับการชำระมากขึ้น มากขึ้น ปัญญาที่เกิดขึ้นในระดับประสบการณ์ของท่านก็จะแก่กล้ายิ่งขึ้น   เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในโลก ในชีวิตของท่าน  ท่านเพียงแต่สำรวจลึกเข้าไปข้างในสักหน่อย  แล้วจะพบคำตอบด้วยตนเอง  นี่จึงเป็นเครื่องนำทางให้แก่ท่าน   ท่านไม่ควรพึ่งพาผู้อื่น หากควรพึ่งพาตนเอง พึ่งพาธรรมะ



ปม


1. เราจะขจัดปมด้อย-ปมเด่นได้อย่างไร ?

นี่เป็นสิ่งที่วิปัสสนาสอน  ปมทุกประเภทคือความไม่บริสุทธิ์ของจิต   ขณะที่ความไม่บริสุทธิ์นั้นผุดโผล่ขึ้นมาบนพื้นผิว ขอให้ท่านเฝ้าสังเกตดูมันในรูปเวทนาที่เกิดขึ้นบนร่างกาย  มันดับไป แล้วเกิดขึ้นอีก  ท่านก็แค่เฝ้าสังเกตดูต่อไป  มันก็ดับอีก   การทำเช่นนี้จะทำให้ปมดังกล่าวอ่อนกำลังลง จนกระทั่งถึงที่สุดไม่ปรากฏขึ้นอีกเลย   ขอเพียงแต่เฝ้าสังเกตดูเฉยๆ   การเก็บกดหรือแสดงออกนั้นเป็นอันตราย  ขณะที่วิปัสสนาจะช่วยให้เราขจัดปมต่างๆ ออกไป



พระเจ้า


1. พระเจ้าคือใคร ?

พระเจ้าก็คือความจริง   จงเข้าถึงความจริงในตัวท่าน  แล้วท่านจะเข้าถึงพระเจ้า

2. มีพระเจ้าผู้สร้างโลกหรือเปล่า ?

ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระเจ้าแบบนั้น   ถ้าท่านเคย ท่านก็มีสิทธิที่จะเชื่อเช่นนั้น   แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ความจริงคือพระเจ้า  กฎธรรมชาติคือพระเจ้า  ธรรมะคือพระเจ้า  และทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ก็ด้วยธรรมะ ด้วยกฎธรรมชาติอันนี้   ถ้าท่านเข้าใจสิ่งนี้ และมีชีวิตตามกฎธรรมชาติ  ท่านก็ย่อมจะมีชีวิตที่ดี   ท่านจะเชื่อในพระเจ้าเบื้องบนหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ

3. เราไม่จำเป็นต้องอาศัยพลังของพระเจ้าหรอกหรือ ?

พลังของพระเจ้าก็คือพลังแห่งธรรมะ  ธรรมะคือพระเจ้า  ความจริงคือพระเจ้า  เมื่อท่านอยู่กับความจริง อยู่กับธรรมะ  ท่านก็อยู่กับพระเจ้า   จงพัฒนาพลังของพระเจ้าในตัวท่าน ด้วยการชำระจิตของตนเองให้บริสุทธิ์

4. ท่านเป็นพวกอเทวนิยมหรือ ?

(หัวเราะ) ถ้า 'อเทวนิยม' ในความหมายของท่าน คือ ผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้าแล้ว   ข้าพเจ้าก็ไม่ใช่  สำหรับข้าพเจ้า พระเจ้าไม่ใช่บุคคลในความคิดจินตนาการ  หากคือความเป็นจริง  สัจธรรมสูงสุดคือพระเจ้าที่แท้จริง

พระพุทธเจ้า

1. ท่านพูดถึงพระพุทธเจ้าอยู่บ่อยๆ  ท่านกำลังสอนพุทธศาสนาอยู่หรือ ?

ข้าพเจ้าไม่สนใจใน 'ศาสนา'   ข้าพเจ้าสอนธรรมะ และนั่นก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน   พระองค์ไม่เคยสอน 'ศาสนา' หรือสิ่งที่เป็นลัทธินิกายใดๆ  หากทรงสอนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า ทุกศาสนา   พระองค์ทรงสอนให้เราสามารถมีชีวิตอยู่อย่างที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น   พระองค์ไม่ได้เพียงแค่แสดงธรรม ด้วยการประกาศว่า  "ท่านทั้งหลาย ต้องมีชีวิตเช่นนั้น  ท่านต้องมีชีวิตเช่นนี้"  แต่ทรงสอนถึงวิธีปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่ดีงามจริงๆ   และวิปัสสนาก็เป็นวิธีการปฏิบัติที่จะนำไปสู่การดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยแท้จริง

2. วิธีปฏิบัติสมาธิต่างๆ ในพุทธศาสนานั้นมีอยู่ในโยคะแล้ว  วิธีการที่พระพุทธเจ้าสอนมีอะไรใหม่หรือ ?

สิ่งที่เรียกว่าโยคะในทุกวันนี้  จริงๆ แล้วพัฒนาขึ้นมาภายหลัง   ท่านปตาญชลีมีชีวิตอยู่ช่วงหลังพุทธกาล 500 ปี   ดังนั้น โยคะสูตรของท่านจึงสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลจากคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   แน่นอนว่าการฝึกปฏิบัติโยคะนั้นมีอยู่ในอินเดียก่อนสมัยพระพุทธเจ้า  และพระองค์เองก็ทรงเคยทดลองวิธีการเหล่านี้มาก่อนที่จะตรัสรู้   อย่างไรก็ตาม วิธีการต่างๆ เหล่านั้นจำกัดอยู่ในระดับของศีลและสมาธิที่สูงถึงขั้นฌานแปด ซึ่งก็ยังอยู่ในขอบเขตของการรับรู้อารมณ์   ทว่าพระพุทธเจ้าทรงค้นพบฌานเก้า นั่นคือ วิปัสสนา  ซึ่งเป็นการพัฒนาปัญญาญาณที่จะน้อมนำผู้ปฏิบัติไปสู่จุดหมายปลายทางอันสูงสุดที่อยู่เหนือจากความทุกข์

พลังแห่งธรรมะ

1. มีพลังแห่งธรรมะคอยหนุนเนื่องเราอยู่ ในขณะที่เราเดินบนเส้นทางนี้หรือคะ ?

แน่นอน  มีทั้งพลังที่มองเห็นได้และที่ไม่อาจเห็นได้  ยกตัวอย่างเช่น คนเรามักคบหาสมาคมกับผู้ที่มีความสนใจ พื้นเพ และบุคลิกภาพคล้ายคลึงกัน   เมื่อเราพัฒนาคุณลักษณะที่ดีในตัวเอง ก็ย่อมจะดึงดูดผู้มีคุณลักษณะที่ดีเช่นนั้นเข้ามาหาเราด้วย   หากเราได้คบหากับคนดีๆ เช่นนี้  เราก็ย่อมจะได้รับความช่วยเหลือจากพวกเขาเหล่านั้น

ถ้าเราพัฒนาความรักความเมตตา และความปรารถนาดี  เราก็ย่อมจะสอดประสานกับชีวิตอื่นๆ ทั้งที่มองเห็นได้หรือไม่อาจมองเห็นได้ ซึ่งมีกระแสสั่นสะเทือนที่ดี  และเราก็จะค่อยๆ ได้แรงสนับสนุนจากพวกเขา   ก็เหมือนกับการปรับวิทยุเพื่อรับคลื่นจากสถานีกระจายเสียงที่อยู่ไกลออกไป   ในทำนองเดียวกัน เราปรับตัวเองเข้าหากระแสสั่นสะเทือนชนิดเดียวกับที่เราสร้าง  เราจึงได้รับประโยชน์จากกระแสเหล่านั้น   แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อท่านปฏิบัติด้วยความพากเพียรและถูกต้อง 



เมตตาภาวนา

1. เมตตาคืออะไร?

เมตตาหรือเมตตาภาวนาเป็นวิธีการแผ่กระแสแห่งความเมตตาความปรารถนาดี ซึ่งผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจะได้เรียนรู้ในวันที่สิบของการอบรมวิปัสสนา   หลังจากนั้น เมื่อสิ้นสุดการอบรมทุกครั้ง หรือภายหลังจากการนั่ง 1 ชั่วโมงแล้ว  จะมีการขอให้ผู้ปฏิบัติแผ่เมตตาแบ่งปันบุญกุศลที่ได้รับให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย   พลังแห่งคุณกุศลจากกระแสเมตตาอันเป็นกระแสที่สัมผัสได้นี้จะมีกำลังแรงกล้าขึ้น  เมื่อจิตได้รับการชำระให้บริสุทธิ์มากขึ้น

2. เมตตาจะมีพลังแรงขึ้น เมื่อสมาธิแก่กล้ายิ่งขึ้นหรือ ?

ใช่  ถ้าปราศจากสมาธิ  เมตตาก็ไม่ใช่เมตตาจริงๆ   ถ้าสมาธิอ่อน จิตย่อมว้าวุ่นมาก  จิตจะว้าวุ่นก็ต่อเมื่อมันเพาะความไม่บริสุทธิ์ โลภะหรือโทสะบางอย่างขึ้น   ความไม่บริสุทธิ์เหล่านี้จะทำให้ท่านไม่สามารถสร้างคุณกุศล กระแสแห่งเมตตาหรือกรุณาได้   ถึงปากของท่านจะพร่ำพูดว่า "จงมีความสุข จงมีความสุข"  นั่นก็ไม่ช่วยอะไร   ถ้าท่านมีสมาธิ  จิตย่อมจะสงบนิ่ง อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่ง  ไม่จำเป็นว่าความไม่บริสุทธิ์ทั้งหลายจะต้องหลุดลอกออกไปหมด   แต่อย่างน้อย ในชั่วขณะที่ท่านกำลังจะแผ่เมตตา จิตของท่านต้องสงบนิ่ง ไม่เพาะกิเลสขึ้นมา   แล้วเมตตาที่ท่านแผ่ย่อมมีพลัง ให้ผลเป็นประโยชน์

3. พลังแห่งเมตตาเป็นผลที่ได้จากการชำระจิตให้บริสุทธิ์ หรือเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาขึ้นอย่างจริงจัง  เมตตาเป็นสภาวะที่จะค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นหรือ ?

ถูกทั้งสองอย่าง  ตามกฎธรรมชาติ กฎของธรรมะ  ในขณะที่จิตได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ เมตตาบารมีจะพัฒนาขึ้นด้วย   อีกนัยหนึ่ง ท่านต้องแผ่เมตตาเพื่อพัฒนาเมตตาด้วย   เมตตาจะเกิดขึ้นเอง โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องแผ่อุทิศให้ ก็ต่อเมื่อจิตอยู่ในสภาวะที่บริสุทธิ์มากๆ เท่านั้น   แต่กว่าจะถึงสภาวะนั้น เราต้องฝึกปฏิบัติไปเรื่อยๆ ก่อน

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนาก็สามารถแผ่เมตตาได้   ในประเทศ อย่างเช่น พม่า ศรีลังกา และไทย   การแผ่เมตตาเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป   ทว่าปกติมักจะเป็นเพียงการนึกในใจว่า "ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุขความสงบโดยทั่วกัน"  ซึ่งแน่นอนว่านั่นช่วยให้จิตใจของคนผู้นั้นมีความสงบอยู่บ้าง  ทำให้มีกระแสสั่นสะเทือนที่ดีในบรรยากาศได้บ้าง  แต่พลังนั้นจะไม่แรงกล้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านฝึกปฏิบัติวิปัสสนา เริ่มต้นชำระจิตให้บริสุทธิ์  พื้นฐานจากความบริสุทธิ์จะช่วยให้การแผ่เมตตาของท่านค่อยๆ มีกำลังแรงกล้าขึ้น   ท่านจึงไม่จำเป็นต้องท่องความปรารถนาดีดังกล่าวออกมาดังๆ   แต่ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อทุกอณูในกายบ่มเพาะความรู้สึกเมตตาความปรารถนาดีต่อผู้อื่น

4. เมตตาช่วยพัฒนามุทิตา(ความเบิกบานยินดี) และกรุณาอย่างไร ?

มุทิตาและกรุณาจะตามมา ในขณะที่เราพัฒนาเมตตา   เมตตาคือความรักที่มีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย  เมตตาจะช่วยลดความโกรธเกลียด ความมุ่งร้าย และความอิจฉาริษยาต่อผู้อื่น 

มุทิตา(ความเบิกบานยินดี)

1. มุทิตาคืออะไร ?

เมื่อท่านเห็นผู้อื่นได้ดี ก็รู้สึกเป็นสุข   แต่ถ้าจิตของท่านไม่บริสุทธิ์ ท่านจะรู้สึกอิจฉาพวกเขา  "ทำไมคนอื่นถึงได้อย่างนั้น แต่ฉันไม่ได้ ?  ฉันควรจะได้มากกว่า  ทำไมเขาถึงได้ยศ ได้ตำแหน่งนั้น ?  ทำไมฉันไม่ได้ ?  ทำไมเขาถึงได้เงินมากมาย ?  ทำไมฉันไม่ได้ ?"  ความริษยาเช่นนี้เกิดจากจิตที่ไม่บริสุทธิ์

ในขณะที่จิตของท่านถูกชำระให้บริสุทธิ์ด้วยวิปัสสนา  เมตตาของท่านจะมีกำลังแรงขึ้น  ท่านจะรู้สึกมีความสุขเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นสุข  "รอบๆ ข้างเต็มไปด้วยทุกข์  แต่ดูสิ อย่างน้อยก็มีคนๆ หนึ่งที่มีความสุข  ขอให้เขามีความสุข ความอิ่มเอิบใจ  ขอให้เขาเจริญในธรรม เจริญในทางโลก"   นี่คือมุทิตา ความเบิกบานยินดีที่จะเกิดขึ้น  



โลก(ภูมิ)

1. ในธรรมบรรยาย ท่านพูดถึงโลกภูมิ 31 ชั้น  แต่นี่ดูจะเป็นเรื่องของทฤษฏีมากกว่า  เราจะเข้าใจสิ่งนี้ได้ในระดับของเวทนาหรือไม่ ?

แน่นอน  วิธีการปฏิบัติทั้งหมดจะช่วยนำพาท่านไปถึงสภาวะที่เริ่มรู้สึกได้   ผู้ปฏิบัติบางคน ซึ่งมีไม่มากนักจะเริ่มรู้สึกว่า "ตอนนี้ ฉันกำลังประสบกับกระแสสั่นสะเทือนอะไรกันนี่ ? เป็นกระแสสั่นสะเทือนชนิดใดกัน?"   แล้วเขาก็จะเข้าใจว่ากระแสสั่นสะเทือนของภพภูมินี้เป็นอย่างนี้   และหลังจากนั้นเขายังจะเข้าใจในรายละเอียดมากยิ่งขึ้นด้วย   แต่ไม่จำเป็นที่เราจะต้องยอมรับก่อนว่าทั้ง 31 ภูมิเหล่านี้มีจริง จึงจะประสบกับความเจริญก้าวหน้าในธรรมะ  จงยอมรับก็ต่อเมื่อท่านได้เข้าถึงสภาวะที่สามารถประสบกับความเป็นจริงอันละเอียดอ่อนดังกล่าวโดยตรงแล้วเท่านั้น

โลภะ(ความอยาก)

1. จะเป็นอะไรไหมครับ ถ้าเรามีโลภะหรือความอยากที่จะตรัสรู้ ?

นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง   ท่านจะไม่มีทางตรัสรู้ได้เลย ถ้ายังคงมีโลภะหรือความอยากที่จะตรัสรู้   การตรัสรู้จะเกิดขึ้นเอง   ถ้าท่านมีความอยาก นั่นเท่ากับว่าท่านกำลังวิ่งไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม   เราไม่สามารถอยากที่จะได้ผลบางอย่าง  ผลจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ    ถ้าท่านเริ่มเกิดความอยาก "ฉันต้องได้นิพพาน ฉันต้องได้นิพพาน"  แสดงว่าท่านกำลังวิ่งสวนทางกับนิพพาน   นิพพานคือสภาวะที่หลุดพ้นจากความอยาก  จึงเป็นไปไม่ได้ที่ท่านต้องการจะเข้าถึงสภาวะดังกล่าวด้วยความอยาก

2. ความปรารถนาอันแรงกล้ากับความอยากเหมือนกันไหมครับ ?

ต่างกัน  จะเป็นความอยากหรือไม่นั้นต้องดูจากความปรารถนาของท่าน   ถ้าท่านไม่ได้สิ่งใด แล้วรู้สึกหดหู่ นั่นคือความอยาก   แต่ถ้าท่านไม่ได้สิ่งนั้น แล้วยังยิ้มได้  นั่นก็เป็นเพียงแค่ความปรารถนา มันจะไม่เปลี่ยนไปเป็นโลภะ   เมื่อใดก็ตามที่มีโลภะและความยึดมั่นถือมั่นอยู่  แล้วท่านไม่ได้สิ่งนั้น ท่านย่อมจะเป็นทุกข์   ถ้าท่านกำลังเป็นทุกข์ แสดงว่าท่านมีโลภะ   แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ก็แสดงว่าไม่มีโลภะ

3. ไม่มีโลภะและโทสะที่เป็นกุศลหรือ ยกตัวอย่าง เช่น การเกลียดความอยุติธรรม  ความปรารถนาในเสรีภาพ  ความกลัวการทำร้ายร่างกาย ?

โลภะและโทสะไม่มีทางเป็นกุศลได้เลย  มันมีแต่จะทำให้ท่านเครียดและไม่มีความสุข   ถ้าท่านแสดงออกด้วยจิตที่มีโลภะหรือโทสะ ท่านอาจบรรลุถึงเป้าหมายที่ควรค่า  ทว่าจะใช้วิธีการอันล่อแหลมเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา   แน่นอนว่าท่านต้องปกป้องตัวเองจากภยันอันตราย   แต่ถ้าท่านทำด้วยความกลัวแล้ว  ก็ย่อมจะสร้างสมปมแห่งความกลัว ซึ่งจะทำร้ายท่านในระยะยาวได้   หรือถ้าท่านทำด้วยใจที่เกลียดชัง แม้ท่านจะได้รับชัยชนะจากการต่อสู้กับความอยุติธรรม  ทว่าความเกลียดนั้นก็จะกลายเป็นปมในใจที่อันตราย   ถึงท่านจะต้องต่อสู้กับความอยุติธรรม  ต้องปกป้องตัวเองจากภยันตราย  แต่ท่านก็สามารถกระทำด้วยจิตที่มีสมดุล ปราศจากความเครียด   ความสมดุลจะช่วยให้ท่านสามารถบรรลุผลดีได้ด้วยความรักต่อผู้อื่น   จิตที่มีสมดุลย่อมเป็นประโยชน์ และก่อให้เกิดอานิสงส์สูงสุด

4. ผิดด้วยหรือที่เราต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ชีวิต ?

ถ้าเป็นความจำเป็นจริงๆ ไม่ได้ทำให้ท่านยึดมั่นกับสิ่งนั้น ก็ไม่มีอะไรผิด   สิ่งไหนที่จำเป็นต้องใช้ ก็หามาได้   แต่ถ้าท่านหามาไม่ได้  ก็จงยิ้มรับ แล้วพยายามหนทางอื่นดูใหม่   ถ้าหามาได้แล้ว ก็จงใช้ โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น

5. แล้วการวางแผนอนาคตล่ะครับ  ท่านคิดว่าเป็นความอยากหรือเปล่า ?

เหมือนกัน  ขึ้นอยู่กับว่าท่านยึดมั่นถือมั่นในแผนการของตัวเองหรือเปล่า  ทุกคนต้องเตรียมการสำหรับอนาคต  ถ้าแผนนั้นไม่ประสบความสำเร็จ  แล้วท่านร้องห่มร้องไห้  นั่นแสดงว่าท่านยึดติด   แต่ถ้าท่านไม่ประสบความสำเร็จ  แล้วยังยิ้มออก คิดได้ว่า "ฉันได้พยายามเต็มที่แล้ว  จะเป็นอย่างไรถ้าต้องล้มเหลว  ฉันก็จะพยายามใหม่!"  จากนั้น ท่านก็ทำไปด้วยความปล่อยวาง  และยังคงมีความสุข



ศีล

1. ทำไมท่านจึงให้ความสำคัญกับศีลและการรักษาศีลห้าอย่างมากในระหว่างการอบรมวิปัสสนา ?

ข้าพเจ้าพบเห็นผู้ปฏิบัติจำนวนมากที่ไม่อาจประสบกับความก้าวหน้าได้  เพราะไม่ให้ความสำคัญกับศีล   ศีลเป็นรากฐานของธรรมะ   เมื่อรากฐานอ่อนแอ โครงสร้างทั้งหมดย่อมต้องพังทลายลง  ผู้คนเหล่านั้นอาจมาเข้าปฏิบัติในหลักสูตรเป็นเวลาหลายปี และได้รับประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์  แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน  พวกเขายังคงว้าวุ่นและเป็นทุกข์   เพราะพวกเขาเพียงแต่กำลังเล่นเกมกับวิปัสสนา เหมือนกับการเล่นเกมอื่นๆ  คนเหล่านี้จึงเป็นผู้สูญเสียอย่างแท้จริง    ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการจะน้อมนำธรรมะไปใช้จริงๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองให้ดีขึ้น ต้องรักษาศีลด้วยความระมัดระวังเท่าที่จะทำได้

2. เราควรมีชีวิตอยู่ในศีลในธรรม  แต่ศีลธรรมกำลังเสื่อมทรามไปทั่วโลก

นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ธรรมะต้องอุบัติขึ้นในเวลานี้ เวลาที่ศีลธรรมกำลังเสื่อมถอย!   ช่วงเวลาที่ความมืดมิดปกคลุมไปทั่ว คือ ช่วงเวลาที่ความสว่างควรปรากฏ พระอาทิตย์ควรฉายแสง

3. ถ้าท่านเป็นทหาร ต้องฆ่าศัตรู ก็ผิดศีลนะสิ ? 

ใช่แล้ว   แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จำเป็นต้องมีกองทัพไว้คอยปกป้องประเทศ ปกป้องประชาชน   ทว่าไม่ควรจะนำมาใช้เพียงเพื่อเข่นฆ่าผู้อื่น  หากควรนำมาใช้เพื่อแสดงถึงความเข้มแข็งของประเทศ ศัตรูจะได้ไม่กล้าแม้แต่จะคิดรุกรานทำร้ายผู้คน  ฉะนั้น การมีกองทัพจึงเป็นเรื่องจำเป็น  แต่ไม่ใช่เอาไว้เพื่อเข่นฆ่า  หากเอาไว้แสดงพลัง   ถ้ามีคนคิดร้ายต่อประเทศ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การออกคำเตือน  หรือถ้าจำเป็น ก็ต้องลงมือ   แต่ทหารต้องได้รับการฝึกไม่ให้มีความโกรธความเกลียด   มิฉะนั้น จิตจะเสียสมดุล ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด   จิตที่สมดุลจะช่วยให้เราตัดสินใจได้รอบคอบ ถูกต้อง  อันจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวเราเองและผู้อื่น 



สมาธิ

1. วิปัสสนาต่างจากสมาธิอย่างไร ?

วิปัสสนามิใช่แค่สมาธิ  หากแต่เป็นการเฝ้าสังเกตความจริงที่เกิดขึ้นภายในกายทุกขณะ  อันจะช่วยให้ท่านพัฒนาสติสัมปชัญญะ   สิ่งต่างๆ นั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทว่าท่านเพียงแค่ระลึกรู้เท่านั้น  นี่คือวิปัสสนา    แต่ถ้าท่านเพ่งความสนใจอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว อาจเป็นสิ่งที่คิดจินตนาการขึ้น  สิ่งนั้นก็ย่อมจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อท่านจดจ่ออยู่กับมโนภาพดังกล่าว จิตของท่านจะตั้งมั่นกับสิ่งนั้น  ท่านจึงไม่ได้เฝ้าสังเกตดูความเป็นจริง   ส่วนในเวลาที่ท่านเฝ้าสังเกตดูความเป็นจริง ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น  เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  ท่านเพียงแค่เฝ้าสังเกตดูมันไปเฉยๆ  นี่คือวิปัสสนา    

สังคม

1. วิปัสสนาจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร ?

ถึงที่สุดแล้ว สังคมไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากกลุ่มบุคคล   การจะแก้ปัญหาในสังคมได้นั้น ต้องแก้ที่ปัญหาของแต่ละบุคคลให้ได้ก่อน  เราต้องการให้โลกมีสันติสุข  แต่เรายังไม่ได้ทำอะไรเพื่อสันติสุขของคนแต่ละคนเลย  แล้วนั่นจะเป็นไปได้อย่างไรกัน ?  วิปัสสนาจะช่วยให้แต่ละคนได้สัมผัสกับความสงบสุข  ช่วยแก้ปัญหาของแต่ละคน   นี่เป็นวิธีที่จะทำให้สังคมได้เริ่มต้นสัมผัสกับความสงบสุข  ปัญหาในสังคมเริ่มได้รับการแก้ไข

2. นั่นจะยิ่งไม่เป็นข้ออ้างให้คนกระทำผิดก่อกรรมทำเข็ญหรือ ?

อย่าสนับสนุนสิ่งที่เป็นบาป  จงหยุดยั้งผู้คนจากการทำบาป  แต่อย่าไปโกรธเกลียดผู้ที่ทำบาป  จงให้ความรักความเมตตากรุณาแก่เขา  เพราะเขาเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ อวิชชา  ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่   เขากำลังทำร้ายตัวเองและคนอื่น   ฉะนั้น ท่านจึงต้องทุ่มเทพลังของตนเองทั้งโดยทางกายและวาจา เพื่อหยุดยั้งไม่ให้เขาทำบาป  แต่ขอให้ทำด้วยความรักความกรุณาต่อคนผู้นั้น  นี่คือสิ่งที่วิปัสสนาจะสอนท่าน

3. ถึงแม้จะเป็นอกุศลกรรมที่ทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ไม่ดีหรือ ?

ไม่ดีแน่  อกุศลกรรมนั้นจะเริ่มทำร้ายท่าน   เมื่อท่านทำร้ายตัวเอง ท่านก็ไม่มีทางที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้  คนขากระเผลกย่อมไม่อาจช่วยเหลือคนขากระเผลกด้วยกันได้   ท่านต้องทำตัวให้ดีเสียก่อน  แล้วจะพบว่าท่านได้กำลังช่วยผู้อื่นด้วย

4. ท่านมักกล่าวประณามพิธีกรรมในสังคม  แต่การแสดงความเคารพและกตัญญูนั้นผิดตรงไหน ?

ไม่มีอะไรผิด  ความเคารพและความกตัญญูไม่ใช่พิธีกรรม   พิธีกรรมก็คือ การที่ท่านไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่  ท่านทำบางสิ่งบางอย่างเพียงเพราะมีคนขอให้ทำ   ถ้าลึกลงไปในใจ ท่านเข้าใจว่า "ฉันกำลังแสดงความเคารพต่อพ่อแม่"  หรือ  "ฉันกำลังแสดงความเคารพต่อพระเจ้า"  แล้ว  ก็ขอให้ท่านพิจารณาด้วยว่า คุณธรรมของพระเจ้าคืออะไร ?  ฉันกำลังแสดงความเคารพอย่างแท้จริงต่อพระเจ้า ด้วยการพัฒนาคุณธรรมเช่นเดียวกันนั้นในตัวเองหรือเปล่า ?   ถ้าคำตอบคือใช่  ก็แสดงว่าท่านกำลังทำสิ่งเหล่านั้นอยู่ด้วยความเข้าใจ  นั่นจึงไม่ใช่พิธีกรรม แต่ถ้าท่านทำๆ ตามกันมาอย่างนั้น  นั่นก็ย่อมจะเป็นพิธีกรรม

5. สังคมไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของการกระทำต่อกันและกันหรือ ?

แน่นอนว่า เราได้รับอิทธิพลจากคนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม  ขณะเดียวกัน เราเองก็มีอิทธิพลต่อพวกเขาด้วยเช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าคนส่วนใหญ่ชอบใช้กำลัง  เมื่อนั้นก็ย่อมเกิดสงครามความพินาศตามมา ทำให้คนจำนวนมากต้องทุกข์ทรมาน   แต่ถ้าพวกเขาเริ่มชำระจิตของตนเองให้บริสุทธิ์ เมื่อนั้นก็จะไม่มีการใช้กำลังความรุนแรง  รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ภายในใจของมนุษย์แต่ละคน  เพราะสังคมประกอบไปด้วยบุคคล   ถ้าแต่ละคนเริ่มเปลี่ยนแปลง สังคมก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย  แล้วสงครามและความพินาศก็ยากจะเกิดขึ้นได้

6. เราจะช่วยเหลือกันและกันได้อย่างไร ถ้าแต่ละคนต้องเผชิญกับผลกรรมของตัวเอง ?

มโนกรรมของเรามีอิทธิพลต่อผู้อื่น  ถ้าเราสร้างสมแต่สิ่งไม่ดีขึ้นในใจ  สิ่งไม่ดีนั้นย่อมทำร้ายผู้ที่มาเกี่ยวข้องกับเรา   แต่ถ้าเราทำให้จิตใจเต็มไปด้วยกุศลความปรารถนาดีต่อผู้อื่น นั่นก็ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่คนรอบข้าง   ท่านไม่อาจควบคุมการกระทำหรือกรรมของผู้อื่นได้   แต่สามารถควบคุมตนเอง เพื่อให้เกิดผลที่ดีให้เแก่คนรอบข้างได้

สันติภาพ

1. ทำไมเราจึงไม่อาจมีชีวิตอยู่อย่างสันติ ?

เพราะเราขาดปัญญาในระดับประสบการณ์   ชีวิตที่ปราศจากปัญญาอันเกิดแต่ประสบการณ์ตรงของตน  คือชีวิตที่อยู่ในมายา มีแต่ความทุกข์ความว้าวุ่น   ภาระหน้าที่ประการแรกของเรา คือ การดำเนินชีวิตที่ดีงาม สงบสุข เป็นกุศลทั้งต่อตนเองและผู้อื่น   ทว่าการจะทำเช่นนี้ได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะนำศักยภาพในการเฝ้าสังเกตตนเอง เฝ้าสังเกตความเป็นจริงมาใช้

2. ทำไมถึงต้องแสวงหาความสงบในใจ ในเมื่อโลกปราศจากสันติภาพ ?

โลกจะมีสันติสุขได้ก็ต่อเมื่อผู้คนบนโลกมีสันติสุข   ความเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากคนแต่ละคน   ถ้าป่าแห้งแล้ง และท่านต้องการจะฟื้นฟูให้มันกลับมามีชีวิต  ท่านก็ต้องรดน้ำต้นไม้แต่ละต้นในป่านั้นก่อน   ถ้าท่านต้องการให้โลกมีสันติภาพ  ท่านก็ควรเรียนรู้ว่าจะทำให้เกิดความสงบในตัวเองได้อย่างไร   แล้วเมื่อนั้น ท่านจึงจะสามารถนำพาความสงบมาสู่โลกได้

3. ความทุกข์ สงคราม และความขัดแย้งเกิดขึ้นพร้อมกับประวัติศาสตร์  ท่านเชื่อในโลกแห่งสันติจริงๆ หรือ ?

ถึงจะมีคนจำนวนไม่มากที่หลุดพ้นจากทุกข์  แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี   เมื่อความมืดมิดปกคลุมไปทั่ว  แล้วตะเกียงดวงหนึ่งเริ่มส่องแสง นั่นย่อมเป็นเรื่องดี   และถ้าตะเกียงหนึ่งดวงเพิ่มขึ้นเป็นสิบดวงหรือยี่สิบดวง  ก็ย่อมจะขับไล่ความมืดมิดให้หมดไป   ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าโลกทั้งโลกจะมีแต่สันติสุข   ยิ่งท่านสามารถสร้างสันติสุขให้แก่ตนเองได้มากเท่าใด ท่านก็ช่วยให้โลกมีสันติสุขมากขึ้นเท่านั้น



หลักสูตรในเรือนจำ

1. พวกอาชญากรใจคอเหี้ยมโหดสามารถฝึกปฏิบัติวิปัสสนาได้หรือ ?

แน่นอน  วิปัสสนาคือการชำระจิตให้บริสุทธิ์  เป็นวิธีการที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากความเครียด ความทุกข์  ผู้ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรง อย่างเช่น ฆาตกรรม ข่มขืน หรือลอบวางเพลิงนั้น  เป็นผู้ที่เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างมาก  จิตใจของเขาเต็มไปด้วยความเครียด   ทุกวันนี้มีการจัดอบรมวิปัสสนาขึ้นในเรือนจำหลายแห่งของอินเดีย  ศูนย์ฯ ธรรมทิหาร์ ภายในเรือนจำทิหาร์ที่กรุงเดลีนั้น ถือเป็นแห่งหนึ่งที่ใหญ่ที่สุด

หลักสูตรวิปัสสนา

1. ท่านมีข้อแนะนำอะไรแก่ผู้ที่ไม่สามารถมาเข้ารับการอบรมในหลักสูตร 10 วันบ้างคะ ?

ท่านต้องตัดสินใจมาเข้ารับการอบรมในหลักสูตร 10 วัน  มิฉะนั้น ก็เปล่าประโยชน์   ไม่มีเวทมนต์ ไม่มีปาฏิหาริย์   ทำไมข้าพเจ้าจึงต้องขอให้ท่านเจียดเวลาในชีวิตมาสัก 10 วัน   หากเป็นเรื่องง่ายๆ  ข้าพเจ้าก็คงแค่นั่งลงตรงนี้  แล้วสอนพวกท่านในเวลาหนึ่งชั่วโมง  ทว่านั่นจะไม่ให้ผลอะไร   เราต้องเจียดเวลา 10 วันของชีวิตมาเรียนรู้วิธีการปฏิบัติที่ละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง  การจะเรียนรู้วิธีการปฏิบัติอย่างถูกต้องจำเป็นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยสิบวัน

2. เราจะเรียนรู้วิปัสสนาจากหนังสือได้ไหมคะ ?

ไม่ได้ อันตรายมาก   วิปัสสนาเป็นการผ่าตัดจิตใจระดับลึกที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก   เราต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าอบรมในหลักสูตร 10 วัน

3. แล้วเราจะเข้าอบรมได้อย่างไรคะ ?

ท่านสามารถส่งใบสมัครไปที่ศูนย์ฯ ในอินเดียหรือต่างประเทศ  ทางศูนย์ฯ จะมีกฎระเบียบบางอย่าง ซึ่งท่านต้องยินยอมที่จะปฏิบัติตาม ก่อนส่งใบสมัคร   การเข้าอบรมต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ไม่ใช่ด้วยการบีบบังคับ   และในระหว่างการอบรม ท่านจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด   กฎระเบียบเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้รับประโยชน์สูงสุดจากการอบรม

4. ต้องเสียค่าใช้จ่าย-ค่าอบรมในการเข้าร่วมหลักสูตรเท่าไรคะ ?

ค่าใช้จ่ายรึ ?!  ธรรมะไม่สามารถตีราคาค่างวดได้!  ไม่มีค่าอบรม และก็ไม่เคยมีการเรียกเก็บเงินจากการสอนวิปัสสนา   การเข้าอบรมวิปัสสนาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น   ในช่วงแรกๆ เคยมีการเก็บค่าอาหารและที่พักตามสภาพความเป็นจริงอยู่ระยะสั้นๆ  แต่โชคดีที่ได้ยกเลิกไปแล้ว  ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรในการเข้าอบรม

5. ทำไมถึงไม่มีการเรียกเก็บค่าอบรมคะ ?

เหตุผลหนึ่งดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปแล้ว คือ ธรรมะไม่สามารถตีราคาค่างวด ประเมินออกมาเป็นตัวเงินได้   อีกเหตุผล คือ ผู้ที่มาเข้าอบรมในหลักสูตรได้ปลีกจากความรับผิดชอบในครอบครัว มาใช้ชีวิตเยี่ยงพระหรือชีชั่วคราว โดยอาศัยเงินบริจาคของผู้อื่น  อันจะเป็นการช่วยลดอัตตา ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่งของความทุกข์   ถ้าเราจ่ายเงินแม้เพียงเล็กน้อย  อัตตาก็จะเกิดขึ้น  คนผู้นั้นอาจพูดว่า "ฉันต้องการสิ่งนี้  ฉันไม่ชอบอย่างนี้",  "ฉันจะทำอะไรตามใจชอบที่นี่ก็ได้"  ฯลฯ   แล้วอัตตาก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าบนเส้นทางธรรม  นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่มีการเรียกเก็บค่าอบรม   นี่เป็นธรรมเนียมที่สืบทอดกันมานานหลายพันปี   พระพุทธองค์ทรงไม่ได้เรียกเก็บเงินจากการเผยแผ่รัตนมณีแห่งวิปัสสนาอันหาค่ามิได้นี้เลย !

6. แล้วค่าใช้จ่ายในการดำเนินหลักสูตรมาจากไหนคะ ในเมื่อไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้เข้าอบรม ?

ค่าใช้จ่ายมาจากทานหรือเงินบริจาคโดยสมัครใจ จากผู้ปฏิบัติที่ผ่านการอบรมวิปัสสนาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง  เป็นการให้ทาน ไม่ว่าจะในรูปของเงินทองหรือการให้บริการที่กอปรไปด้วยความตั้งใจว่า  "ฉันได้รับประโยชน์จากวิธีการปฏิบัติอันแสนวิเศษนี้ ก็เพราะทานของผู้อื่น  ฉะนั้น ขอให้ผู้อื่นจงได้รับประโยชน์นี้ด้วย"   สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความตั้งใจในเวลาให้ทาน   ถึงแม้จะเป็นดินปุ๋ยเพียงกำมือ  แต่ถ้าให้ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์แล้ว  ย่อมก่ออานิสงส์ยิ่งใหญ่กว่าทองทั้งถุงที่ให้ด้วยอัตตาหรือให้โดยไม่ตั้งใจ   การให้ทานด้วยใจที่บริสุทธิ์จะยังอานิสงส์แก่ผู้ให้

7. ทำไมท่านถึงบอกว่าช่วงเช้าตรู่เหมาะกับการปฏิบัติ ?

การเข้านอนแต่หัวค่ำ และตื่นแต่เช้านั้นเป็นนิสัยที่ดีมาก จะช่วยให้ท่านมีสุขภาพดี   นอกจากนี้ ช่วงเช้าตรู่ยังเหมาะกับการปฏิบัติวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน  เพราะเป็นเวลาที่คนอื่นๆ กำลังหลับอยู่  เช่นเดียวกับโลภะส่วนใหญ่  เพราะเมื่อทุกคนตื่นขึ้น ต่างก็มีความโลภ  บรรยากาศทั้งหมดจึงเต็มไปด้วยโลภะ ทำให้ท่านปฏิบัติได้ไม่ดีนัก   ฉะนั้น ในระหว่างที่ทุกคนกำลังหลับ  จึงเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่ท่านจะปฏิบัติ

เหตุและผล

1. มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือเกิดขึ้นเอง โดยปราศจากเหตุบ้างไหม ?

ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุ ไม่มีทางเป็นไปได้   บางครั้งประสาทสัมผัสและปัญญาอันจำกัดของเรา ก็ทำให้ไม่สามารถมองเห็นมันได้อย่างแจ่มชัด  แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะปราศจากเหตุ

2. ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตนี้ได้ถูกลิขิตเอาไว้แล้วหรือ ?

แน่นอนว่า กรรมเก่าย่อมจะให้ผลดีหรือเลว  กำหนดรูปแบบชีวิตของเรา สถานการณ์ทั่วๆ ไปที่เราเผชิญ  แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเราถูกกำหนดหรือลิขิตด้วยกรรมเก่า  และจะไม่มีเหตุอื่นเกิดขึ้น  ไม่ใช่อย่างนั้น   กรรมเก่ามีอิทธิพลต่อกระแสชีวิตของเรา นำพาไปสู่ประสบการณ์ที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ   แต่ทว่ากรรมในปัจจุบันก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน   ธรรมชาติได้มอบความสามารถที่จะควบคุมกำกับการกระทำในปัจจุบันให้แก่เรา  ซึ่งจะช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงอนาคตของตนเองได้



อัตตา

1. ท่านพูดถึงตัวตน 'ฉัน' ในแง่ลบเท่านั้น ไม่มีด้านบวกเลยหรือ  ไม่ใช่เพราะ 'ฉัน' หรอกหรือที่ทำให้เรามีความเบิกบานยินดี ความสงบ และความอิ่มเอิบใจ ?

การปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยให้ท่านแลเห็นว่า กามคุณต่างๆ ไม่จีรังยั่งยืน  เกิดขึ้น แล้วดับไป   ถ้า'ฉัน' รู้สึกเพลิดเพลินกับสิ่งนี้จริง  ถ้าสิ่งนี้เป็น 'ความพึงพอใจ' ของฉันแล้ว  'ฉัน' ต้องเป็นนายเหนือมัน   แต่มันกลับเกิดขึ้นและดับไป โดยที่ฉันไม่อาจควบคุมได้   เช่นนั้นแล้ว 'ฉัน' อยู่ที่ไหนกัน ? ผมไม่ได้พูดถึงกามคุณ  แต่พูดถึงในระดับที่ลึกซึ้งกว่านั้น

ในระดับนั้น 'ฉัน' ย่อมไม่มีความสำคัญอีกต่อไป   เมื่อท่านเข้าถึงระดับนั้น ตัวตนจะมลายไป  มีแต่เพียงปีติเท่านั้น  จะไม่มีข้อสงสัยเรื่อง 'ฉัน' เกิดขึ้นเลยแทนที่จะพูดถึง 'ฉัน'  เราน่าจะพูดถึงประสบการณ์ของคนๆ หนึ่ง

ความรู้สึกนั้น  ไม่มีคนที่รู้สึก   สิ่งต่างๆ ก็แค่เกิดขึ้นเพียงเท่านั้น   ตอนนี้สำหรับท่าน ดูเหมือนว่าจะต้องมี 'ฉัน' ที่เป็นผู้รู้สึก   แต่หลังจากได้เริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว ท่านจะเข้าถึงสภาวะที่ตัวตนสลายไป  แล้วข้อสงสัยของท่านก็จะหมดไปด้วย

แน่นอน เราไม่อาจจะเลี่ยงใช้คำว่า 'ฉัน' หรือ 'ของฉัน' ฯลฯ เพื่อจุดประสงค์โดยทั่วไปได้  แต่การยึดติดกับมัน คิดว่ามันมีอยู่จริง มีแต่จะทำให้เกิดทุกข์

2. ผมรู้สึกว่าตัวเองมีอัตตามาก และชอบดูถูกคนอื่น  มีวิธีไหนที่จะแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุดบ้างครับ ?

แก้ได้ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนา   ถ้าเรามีอัตตาแรง ก็จะพยายามดูถูกคนอื่น  ลดความสำคัญของเขา  เพิ่มความสำคัญของตัวเอง   แต่การปฏิบัติจะค่อยๆ ทลายอัตตา  เมื่อมันถูกทลายลง ท่านก็จะไม่ทำร้ายผู้อื่นอีกต่อไป  จงมาปฏิบัติ แล้วปัญหาจะคลี่คลายเอง

3. ทำไมผมถึงเอาแต่สั่งสมอัตตา พยายามจะเป็น "ฉัน" ?

นั่นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งด้วยความไม่รู้  แต่วิปัสสนาสามารถปลดปล่อยท่านออกจากการปรุงแต่งที่เป็นอันตรายนี้  ช่วยให้ท่านเรียนรู้ที่จะคิดถึงผู้อื่น  แทนที่จะเฝ้าคิดถึงแต่ตัวเอง

อาการนอนไม่หลับ

1. จะแก้ปัญหาเรื่องนอนไม่หลับอย่างไรดีครับ ?

วิปัสสนาช่วยท่านได้   ในเวลาที่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนานอนไม่หลับ  หากเขานอนเฝ้าสังเกตลมหายใจหรือเวทนาไปเรื่อยๆ ก็จะหลับได้เอง   ถึงแม้จะหลับไม่สนิท แต่วันรุ่งขึ้น เขาก็จะตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกสดชื่น ราวกับว่าได้หลับมาอย่างเต็มที่   จงปฏิบัติวิปัสสนา แม้ในยามที่ล้มตัวลงนอน  ขอให้ลองดู แล้วท่านจะพบว่ามันช่วยได้มาก

2. ตลอดระยะเวลา 10-12 ปีที่ผ่านมา ผมนอนไม่ค่อยหลับเลยครับ ?

วิปัสสนาจะช่วยแก้ปัญหานี้  ขึ้นอยู่กับว่าท่านปฏิบัติได้ถูกต้องเพียงใด   ถ้าท่านมาเข้าอบรมวิปัสสนาด้วยจุดประสงค์เพื่อช่วยให้นอนหลับได้สนิทเพียงอย่างเดียวแล้วล่ะก็  จงอย่ามาดีกว่า!   ท่านควรมาเข้าอบรมเพื่อชำระความไม่บริสุทธิ์ในใจ   ท่านมีความว้าวุ่นอยู่มากมาย  เพราะในใจเต็มไปด้วยความขุ่นมัว ความกังวล   วิปัสสนาจะค่อยๆ ช่วยขจัดความกังวล ความขุ่นมัว และความไม่บริสุทธิ์ทั้งหลายเหล่านี้ออกไป  แล้วท่านก็จะเริ่มนอนหลับได้สนิทขึ้น

อาตมัน (วิญญาณ)

1. 'อาตมัน' หรือ 'วิญญาณ' คืออะไรครับ ?

ท่านต้องปฏิบัติวิปัสสนา  แล้วจะได้ประสบกับความจริงที่เกิดขึ้นในตัวเอง   ท่านจะพบว่าสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณหรืออาตมันนั้น เป็นเพียงจิตที่ปรุงแต่ง เป็นบางส่วนของจิตเท่านั้น   แต่ท่านก็ยังคงอยู่ภายใต้มายาที่ว่า "นี้คือ 'ฉัน'"  การปฏิบัติจะช่วยให้ท่านตระหนักว่า 'ฉัน' นี้ไม่เที่ยง  เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ไม่ยั่งยืน   เป็นแค่กลุ่มก้อนของอนุภาคเล็กๆ จำนวนมากที่อยู่ในสภาพกระเพื่อมไหวเลื่อนไหลตลอดเวลา   การได้ประจักษ์แจ้งในสิ่งนี้โดยตรงเท่านั้น ที่จะทำให้มายาของ 'ฉัน' และ 'วิญญาณ' มลายไป    ไม่มีมายา ไม่มีโมหะ  ความทุกข์ทั้งปวงหมดสิ้นไป   ทว่าเราจะต้องประสบกับสิ่งนี้เอง  ไม่ใช่แค่การยอมรับด้วยความเชื่อทางปรัชญา   

อารมณ์

1. ความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า ฯลฯ ไม่ใช่อารมณ์ธรรมชาติของมนุษย์หรอกหรือ ?

ท่านเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า อารมณ์ 'ธรรมชาติ' ของมนุษย์   แต่จิตโดยธรรมชาตินั้นบริสุทธิ์อย่างยิ่ง  นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมาก   เราสูญเสียธรรมชาติอันบริสุทธิ์โดยแท้จริงของจิตไปมาก จนหลงเรียกธรรมชาติอันไม่บริสุทธิ์ของจิตว่า 'ธรรมชาติ' อยู่บ่อยๆ   จิตที่เป็นธรรมชาติจริงๆ นั้นบริสุทธิ์อย่างยิ่ง เต็มไปด้วยความเมตตา ความปรารถนาดีผมจะยกตัวอย่าง เช่น สมมติว่ามีคนใกล้ชิดกับผมตาย  นั่นเป็นธรรมดาที่ผมจะ...

ท่านกำลังพูดเรื่องเดิมอีกแล้ว!  นั่นเป็นเรื่องผิดธรรมชาติที่ท่านเข้าไปเกี่ยวข้อง  ถ้ามีคนตาย ไม่ใช่ว่าร้องไห้  การร้องไห้ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร   ชั่วขณะที่ท่านร้องไห้ ท่านกำลังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการร้องไห้   ธรรมชาติไม่เห็นหรอกว่าทำไมท่านถึงร้องไห้  ธรรมชาติเห็นแต่เพียงว่าท่านได้หว่านเมล็ดพันธุ์อะไร  และเมล็ดพันธุ์แห่งการร้องไห้ก็มีแต่จะทำให้เกิดการร้องไห้หนักยิ่งขึ้น...แต่ความรู้สึกที่ผมมีต่อคนตายล่ะครับ ?

ท่านกำลังทำร้ายคนผู้นั้นด้วย  เพราะไม่ว่าเขาจะไปเกิดใหม่ที่ไหนในชาติหน้า หรือไปอยู่ที่ไหนก็ตาม  ท่านกำลังส่งกระแสแห่งการร้องไห้ไปถึงคนผู้นั้น  และคนที่น่าสงสารผู้นี้ ก็ย่อมจะรู้สึกปั่นป่วนเป็นอย่างยิ่ง  เพราะได้รับกระแสแห่งความทุกข์     แทนที่จะทำเช่นนั้น  ในวันที่สิบของการอบรมวิปัสสนา ท่านจะได้เรียนรู้ถึงวิธีแผ่เมตตาอันเป็นกระแสแห่งความรักความเมตตา  แล้วคนผู้นั้นก็จะเป็นสุข   ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน กระแสแห่งเมตตาจะเข้าถึงคนผู้นั้น   ท่านจะช่วยเขาด้วยการแผ่เมตตาแทนการร้องไห้      

อาหาร

1. ทำไมอาหารมังสวิรัติจึงช่วยในการปฏิบัติ ?

เวลาที่ท่านรับประทานเนื้อหรืออะไรอื่น  ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ปลา หรืออะไรก็ตาม   ชั่วชีวิตของมันมีแต่สร้างสมโลภะ โทสะ  โลภะ โทสะ    มนุษย์นั้นมีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากโลภะและโทสะ  ทว่าสัตว์ไม่อาจจะหลุดพ้นได้   ฉะนั้น ทุกๆ อณูในร่างกายของมันจึงมีแต่กระแสของโลภะและโทสะ   และในเมื่อตัวท่านต้องการจะหลุดพ้นจากโลภะโทสะ  แต่ท่านกลับกำลังป้อนสิ่งเหล่านั้นเข้าไป   เช่นนั้นแล้ว ท่านจะมีกระแสสั่นสะเทือนแบบไหนกัน   ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นสิ่งไม่ดี

2. คนที่ไม่รับประทานมังสวิรัติจะพบกับความก้าวหน้าในการปฏิบัติวิปัสสนาได้หรือเปล่า ?

เมื่อท่านมาเข้ารับการอบรม ศูนย์ฯ จะจัดอาหารมังสวิรัติให้เท่านั้น   แต่เราไม่ได้บอกว่า ถ้าท่านไม่กินอาหารมังสวิรัติแล้ว ท่านจะตกนรก  ไม่ใช่อย่างนั้น   ท่านจะค่อยๆ ละเลิกจากการกินเนื้อสัตว์ เหมือนเช่นผู้ปฏิบัติหลายพันคน    ท่านจะพบว่าตัวเองไม่มีความต้องการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์อีก   ท่านจะประสบกับความก้าวหน้าในการปฏิบัติมากขึ้น ถ้าเป็นนักมังสวิรัติ

อุเบกขา

1. ที่ให้ 'วางอุเบกขา' นั้น ท่านหมายความอย่างไร ?

เวลาที่ท่านไม่ตอบโต้ ก็คือ การที่ท่านมีอุเบกขา

2. เราจะรู้สึกและมีความสุขไปกับสิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยที่ยังคงมีอุเบกขาได้หรือ ?

แน่นอน  ชีวิตคือการมีความสุขกับสิ่งที่ดีๆ  แต่ไม่ใช่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งใด   หากท่านยังคงมีอุเบกขาและความสุข  ในเวลาที่ต้องพลาดจากมัน ท่านก็ยังยิ้มได้  "ฉันรู้ว่ามันกำลังหลุดลอยไป มันหลุดลอยไปแล้ว  แล้วอย่างไร?"   เมื่อนั้น ท่านจึงจะมีความสุขกับชีวิตจริงๆ   มิฉะนั้นแล้ว ก็เท่ากับว่าท่านกำลังยึดติด  และถ้าท่านพลาดจากมัน ก็จะจมจ่อมอยู่กับความทุกข์    ฉะนั้น อย่าทุกข์  จงมีความสุขในทุกสถานการณ์

3. การไม่ตอบโต้เป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติแน่ๆ ?

ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น  ถ้าท่านได้ประสบแต่รูปแบบพฤติกรรมไม่ดีของจิตที่มัวหมอง   ทว่าเป็นธรรมชาติ ที่จิตบริสุทธิ์จะยังคงมีอุเบกขาอย่างเต็มเปี่ยม   จิตที่บริสุทธิ์ มีอุเบกขานั้นจะเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา  ความปรารถนาดี ความเบิกบาน และการปล่อยวาง   อุเบกขาคือความบริสุทธิ์   จงเรียนรู้ที่จะประสบกับสิ่งเหล่านี้

4. แล้วเราจะมีชีวิตอย่างไร  ถ้าไม่ตอบโต้ ?

แทนที่จะตอบโต้  ท่านต้องเรียนรู้ที่จะแสดงออก แสดงออกด้วยจิตที่มีสมดุล   ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาต้องไม่เย็นชาเหมือนพืชผัก   หากต้องเรียนรู้ที่จะแสดงออกอย่างสร้างสรรค์   ถ้าท่านสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตตนเอง จากที่เคยตอบโต้เป็นการรู้จักแสดงออก  ท่านก็จะได้รับสิ่งที่มีค่ายิ่ง   และท่านจะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้ ก็ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนา

5. อุเบกขาเกี่ยวข้องกับสมาธิอย่างไร ?

สมาธิเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีอุเบกขา  เราสามารถมีจิตจดจ่อเป็นสมาธิแน่วแน่วได้โดยอาศัยความอยาก   แต่สมาธิประเภทนี้ไม่ใช่สัมมาสมาธิ  เป็นสมาธิที่ตั้งอยู่บนความไม่บริสุทธิ์   แต่ถ้าเป็นสมาธิที่กำกับด้วยอุเบกขาแล้ว ย่อมให้ผลอันน่าอัศจรรย์  เพราะจิตจะบริสุทธิ์ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ  ฉะนั้นจึงมีพลังที่บริสุทธิ์  ไม่สามารถทำร้ายตัวท่านหรือผู้อื่นได้   แต่ถ้าเป็นสมาธิที่มีพลังไม่บริสุทธิ์ ก็ย่อมจะทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตัวท่านเอง   ดังนั้น อุเบกขาที่กำกับสมาธิจึงเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์

6. ถ้ามีคนจงใจทำให้ชีวิตเราเป็นทุกข์  จะอดทนอย่างไรดี ?

อย่างแรก อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงผู้อื่น  แต่จงพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง   มีคนกำลังพยายามทำให้ท่านเป็นทุกข์  แต่ท่านจะเป็นทุกข์ก็เพราะได้ตอบโต้ออกไป   ถ้าท่านเรียนรู้ที่จะเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาของตัวท่านเองแล้ว ย่อมไม่มีใครสามารถทำให้ท่านเป็นทุกข์ได้   ทุกข์จากผู้อื่นแม้ว่าจะมากแค่ไหน ก็ไม่อาจทำให้ท่านเป็นทุกข์ได้  ถ้าลึกลงไปภายใน ท่านรู้จักวางอุเบกขา    วิปัสสนาจะช่วยท่าน  เมื่อท่านเป็นอิสระจากทุกข์ภายใน สิ่งนี้จะเริ่มส่งผลต่อผู้อื่นด้วย   คนที่ทำร้ายท่านก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย

 
Tupi olfactorily german's helping download zoo sex videos accessless Shena Agbogla
legature blanketers incoronation white-tailed zoo porn dogs same girl endophragmal chimerically semilegislatively
Heliothis amphirhine honey-heavy Franklinization zoo sex tube herewithal Laccadive prevoting
Demodicidae degener quasi-physically uninitiation dowunload vedeo porn animal vs boys storylines precipitability Ohaus