ท่านซายาเท็ตจี

 

Sayatedji

  
ท่านอาจารย์เท็ตหรือท่านซายาเท็ตจีของชาวพม่า เกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2416 ในครอบครัวชาวนา ณ หมู่บ้านเปียวบ่วยจี  ห่างจากกรุงร่างกุ้งไปทางใต้ 8 ไมล์  โดยมีชื่อเดิมว่าหม่องโพเท็ต  บิดาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านอายุได้ 10 ปี มารดาจึงต้องเลี้ยงดูลูกๆ ทั้งสี่ตามลำพังด้วยการขายผักชุบแป้งทอดในหมู่บ้าน  เด็กชายโพเท็ตต้องออกไปเร่ขายผักชุบแป้งทอด  แต่มักกลับบ้านโดยขายอะไรไม่ได้  เพราะอายเกินกว่าที่จะร้องขาย   ดังนั้นแม่ของท่านจึงต้องส่งลูกๆ ออกไป 2 คน  ให้โพเท็ตเทินถาดที่ใส่ผักชุบแป้งทอดไว้บนศีรษะ โดยมีน้องสาวของท่านเป็นคนร้องเร่ขาย

เนื่องจากท่านมีภาระต้องช่วยหาเลี้ยงครอบครัว จึงได้ศึกษาเล่าเรียนเพียง 6 ปีเท่านั้น  ครอบครัวของท่านไม่มีที่ดินทำกินหรือนาข้าว  ต้องไปอาศัยเก็บต้นข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวในนาของคนอื่น  วันหนึ่งระหว่างกลับจากท้องนาจะไปบ้านโพเท็ตพบปลาเล็กๆ อยู่ในสระน้ำที่กำลังเหือดแห้ง จึงจับกลับบ้านเพื่อจะนำไปปล่อยลงสระน้ำในหมู่บ้าน  ทว่าเมื่อมารดาของท่านเห็นเข้า ก็เกือบจะเอ็ดลูกชายที่ไปจับปลามา  แต่พอเด็กชายอธิบายถึงความตั้งใจ  มารดาก็เปล่งคำว่า "สาธุ สาธุ! (ดีแล้ว ดีแล้ว)" ออกมาแทน  มารดาของท่านเป็นหญิงใจดี ไม่เคยจุกจิกหรือดุด่าอะไร  ทว่าท่านทนไม่ได้กับเรื่องการทำบาปทำกรรม

เมื่อหม่องโพเท็ตอายุได้ 14 ปี ก็เริ่มทำงานเป็นคนขับเกวียนขนข้าว นำค่าแรงที่ได้รับในแต่ละวันมาให้แม่  ตอนนั้นท่านยังตัวเล็กมาก จึงต้องเอาลังติดไปด้วยเพื่อช่วยในการขึ้นลงเกวียน  หลังจากนั้นท่านก็ไปทำงานแจวเรือสำปั้น เนื่องจากหมู่บ้านเปียวบ่วยจีตั้งอยู่บริเวณที่ราบ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านไปบรรจบกับแม่น้ำร่างกุ้ง  เมื่อน้ำท่วมนาข้าว จึงมีปัญหาในการสัญจร  ฉะนั้นวิธีหนึ่งในการเดินทางก็คือ ใช้เรือท้องแบนลำยาวเหล่านี้

เจ้าของโรงสีข้าวเห็นเด็กน้อยทำงานแบกหามข้าวสารอย่างขยันขันแข็ง  จึงตัดสินใจว่าจ้างให้เขาตรวจนับสินค้าในโรงสีด้วยอัตราเงินเดือนๆ ละ 6 รูปี  โพเท็ตพักอยู่ที่โรงสี กินอาหารง่ายๆ คือ ข้าวกับถั่วซีกชุบแป้งทอด   ตอนแรกท่านซื้อข้าวจากยามชาวอินเดียและคนงานอื่นๆ  พวกนั้นบอกให้ท่านเอาเศษข้าวที่เก็บกวาดจากโรงสีสำหรับไว้เลี้ยงหมูและไก่มากิน  แต่ท่านปฏิเสธ โดยกล่าวว่าไม่ต้องการนำข้าวเหล่านั้นมากิน โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของโรงสี   อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าของทราบเรื่อง ท่านก็ได้รับอนุญาต  ทว่าหม่องโพเท็ตก็กินปลายข้าวอยู่ไม่นาน  เจ้าของเรือสำปั้นและเกวียนก็ให้ข้าวแก่ท่าน เพราะท่านเป็นคนงานที่ขยันขันแข็ง  แต่กระนั้นโพเท็ตก็ยังคงเก็บกวาดปลายข้าวจากโรงสี นำไปแจกจ่ายแก่ชาวบ้านยากจนที่ไม่สามารถซื้อข้าวกินได้

ปีต่อมาท่านได้รับเงินเดือนเพิ่มเป็น 10 รูปี  หลังจากผ่านไปสองปี ก็ได้รับเพิ่มเป็น 15 รูปี  เจ้าของโรงสีให้เงินท่านซื้อข้าวคุณภาพดีและให้สีข้าวเปล่าๆ ได้เดือนละ 100 ถัง  เงินเดือนเพิ่มขึ้นไปถึง 25 รูปี ซึ่งเพียงพอที่จะเลี้ยงดูตนเองและมารดา ครั้นอายุได้ 16 ปีตามธรรมเนียม  หม่องโพเท็ตก็แต่งงานกับมะเหมียน ลูกสาวคนสุดท้องในจำนวนลูกสาวทั้งหมดสามคนของเจ้าของที่ดินและพ่อค้าข้าวที่มั่งคั่งรายหนึ่ง  ทั้งคู่มีบุตร 2 คน เป็นหญิงและชายอย่างละคน  โดยได้พักอาศัยอยู่กับครอบครัวและพี่น้องของฝ่ายหญิงตามประเพณีของชาวพม่า  มะหยี พี่สาวคนที่สองนั้นเป็นโสด มีกิจการเล็กๆ ของตนเองซึ่งต่อมาคือผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้อูโพเท็ตได้ปฏิบัติและสอนวิปัสสนา  ส่วนมะขิ่น พี่สาวคนโตของมะเหมียนแต่งงานกับโค คะเย  มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อหม่องยุ  โค คะเยนั้นเป็นผู้ดูแลกิจการและที่นาของครอบครัว  ส่วนหม่องโพเท็ตซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นอูโพเท็ตหรืออูเท็ต(นายเท็ต)ไปแล้ว ก็ร่ำรวยจากการค้าข้าวเช่นกัน

ในวัยเด็ก อูเท็ตไม่มีโอกาสได้บวชเณร อันถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญในประเทศพม่า  ดังนั้นเมื่อหม่องยุ หลานชายบวชเณรตอนอายุ12 ปี  อูเท็ตจึงมีโอกาสบวชเณรด้วย และต่อมาก็มีโอกาสได้บวชพระ  เมื่ออายุประมาณ 23 ปี ท่านได้ฝึกปฏิบัติอานาปานสติกับท่านซายายุ ซึ่งเป็นอาจารย์ฆราวาส และปฏิบัติเรื่อยมาอยู่นาน 7 ปี

อูเท็ตกับภรรยามีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นและเป็นสุข ห้อมล้อมไปด้วยญาติมิตร  ทว่าความสุขสงบดังกล่าวกลับต้องมีอันพังทลายลง  เมื่อโรคอหิวาต์ระบาดเข้ามาในหมู่บ้านเมื่อปีพ.ศ. 2446   ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ชาวบ้านได้ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก  ในจำนวนนี้มีลูกชายและลูกสาวของอูเท็ตที่อยู่ในวัยดรุณ  ซึ่งว่ากันว่าตายในอ้อมแขนของท่าน  รวมทั้งโค คะเย พี่เขย และภรรยาของเขา  ตลอดจนหลานสาวที่เป็นเพื่อนเล่นกับลูกสาวของท่านด้วย

ภัยพิบัติครั้งนี้สร้างความสะเทือนใจให้แก่อูเท็ตอย่างมาก จนไม่รู้จะทำเช่นไร   ท่านจึงขอภรรยา พี่ภรรยา และญาติคนอื่นๆ ออกจากหมู่บ้านไปแสวงหา "ความเป็นอมตะ" โดยมีเพื่อนชื่ออู-นโยติดตามไปด้วย  ท่านตระเวนไปทั่วพม่า ศึกษากับครูอาจารย์ต่างๆ ทั้งพระและฆราวาส ตามสถานที่ฝึกกรรมฐานบนภูเขา วัดป่า  ในที่สุดก็ขึ้นเหนือไปมงยวาเพื่อปฏิบัติธรรมกับท่านเลดี ซายาดอว์ ตามคำแนะนำของท่านซายายุ อาจารย์คนแรก

ระหว่างที่แสวงหาโมกขธรรมอยู่นั้น ภรรยาของท่านกับพี่ภรรยายังคงอยู่ที่เปียวบ่วยจีดูแลไร่นา  ช่วงสองสามปีแรกท่านยังกลับบ้านไปเยี่ยมเยียนครอบครัวเป็นครั้งคราว  เมื่อเห็นว่าพวกเขาสบายดี จึงได้เริ่มหันมาปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องจริงจังยิ่งขึ้น โดยพักอยู่กับท่านเลดี ซายาดอว์ถึง 7 ปี  ระหว่างนี้ภรรยากับพี่สาวคอยส่งเงินที่ได้จากผลเก็บเกี่ยวในไร่นาของครอบครัวมาให้ทุกๆ ปี

7 ปีผ่านไป ท่านก็เดินทางกลับหมู่บ้านพร้อมกับอู-นโย  แต่ไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตครองเรือนเหมือนเช่นเคย ท่านเลดี ซายาดอว์ได้แนะนำท่านในตอนที่ลาจากมาว่า  ให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง พัฒนาสมาธิและปัญญา เพื่อจะได้สอนวิปัสสนาให้แก่ผู้อื่นในที่สุด เมื่อมาถึง  ทั้งสองจึงตรงไปยังศาลาปลายนาของครอบครัว และใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  โดยว่าจ้างหญิงชาวบ้านที่อยู่ใกล้ๆ ทำอาหารให้วันละ 2 มื้อ

อูเท็ตปฏิบัติเช่นนี้อยู่หนึ่งปี ก็พบกับความก้าวหน้าอย่างมาก  วันหนึ่งท่านรู้สึกว่าต้องการคำแนะนำจากอาจารย์  และถึงแม้จะไม่อาจพบปะพูดคุยกับท่านเลดี ซายาดอว์ได้โดยตรง   แต่ก็รู้ว่ามีหนังสือของท่านอาจารย์อยู่ในตู้ที่บ้าน จึงกลับบ้านไปเอาหนังสือเล่มดังกล่าว  ภรรยาของท่านและพี่ภรรยารู้สึกโกรธที่ท่านหายหน้าไปนานไม่ยอมกลับบ้าน  ภรรยาของท่านถึงกับตัดสินใจจะหย่าขาดจากท่าน  เมื่อพวกเขาเห็นอูโพเท็ตตรงเข้ามา ก็ตกลงใจกันว่าจะไม่ทักทายหรือต้อนรับ  แต่พออูเท็ตมาถึงประตู  พวกเขากลับต้อนรับ พูดคุยกับท่านอยู่พักหนึ่ง  ท่านกล่าวขอโทษ ซึ่งพวกเขาก็ให้อภัย  และได้เลี้ยงอาหาร ชา พร้อมทั้งนำหนังสือมาให้   ท่านบอกกับภรรยาว่า ตอนนี้ท่านถือศีล 8  และจะไม่กลับมาใช้ชีวิตเยี่ยงผู้ครองเรือนอีก  นับจากนี้ไป ท่านและภรรยาจะเป็นพี่น้องกัน

ภรรยาและพี่ภรรยาเชื้อเชิญให้ท่านมารับประทานอาหารเช้าที่บ้านทุกวัน  และยินดีที่จะให้การสนับสนุนท่านต่อไป ท่านรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างที่สุด  และบอกว่ามีเพียงหนทางเดียวที่จะตอบแทนคุณของพวกเขาได้ นั่นคือ การให้ธรรมะ ญาติคนอื่นๆ  รวมทั้งอูบาโซซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับภรรยาของท่าน  ก็มาพบปะพูดคุยกับท่านด้วย  หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ อูเท็ตก็บอกว่าท่านใช้เวลาในการไป-กลับเพื่อรับประทานอาหารกลางวันมากเกินไป   ดังนั้นมะเหมียนกับมะหยีจึงอาสาจะนำอาหารกลางวันมาให้ที่ศาลา

ตอนแรกชาวบ้านรู้สึกลังเลที่จะมาฝึกปฏิบัติธรรมกับอูเท็ต  เพราะคิดว่าท่านคงเสียสติ เนื่องจากความโศรกเศร้าจากภัยพิบัติในครั้งนั้น จนเตลิดออกไปจากหมู่บ้าน   แต่คำพูดและการกระทำของท่านก็ค่อยๆ ทำให้พวกเขาประจักษ์แจ้งว่า ท่านเป็นคนใหม่ที่มีชีวิตอยู่กับธรรมะจริงๆ  ไม่ช้าญาติและเพื่อนบางคนก็มาขอให้ท่านสอนวิปัสสนา  อูบาโซอาสาจะดูแลไร่นาและธุระในบ้าน  ส่วนน้องสาวของอูเท็ตและหลานสาวจะรับผิดชอบเรื่องอาหาร  ท่านเริ่มสอนอานาปานสติให้แก่กลุ่มคนเล็กๆ ประมาณ 15 คนในปีพ.ศ.2457 ขณะอายุได้41 ปี   ศิษย์ทั้งหมดอยู่พักปฏิบัติกับท่านที่ศาลา  มีบางคนกลับบ้านไปเป็นครั้งคราว  นอกจากนี้ท่านยังแสดงธรรมให้แก่ศิษย์และผู้สนใจด้วย  ผู้ที่ได้ฟังเหล่านี้พบว่าธรรมะของท่านนั้นลึกซึ้ง จนแทบจะไม่อยากเชื่อว่าท่านมีความรู้ทางด้านปริยัติธรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ด้วยเงินสนับสนุนของภรรยาและพี่ภรรยา ตลอดจนความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ในครอบครัว  ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมกับท่านจึงได้รับความสะดวกในด้านอาหารการกินและสิ่งจำเป็นอื่นๆ จนทำให้มีผู้มาเข้ารับการอบรมเพิ่มมากขึ้น  กระทั่งในคราวหนึ่งถึงกับต้องว่าจ้างคนมาช่วย

ประมาณปีพ.ศ.2458 หลังจากสอนวิปัสสนามาได้ปีเศษ  อูเท็ตก็พาภรรยากับพี่ภรรยา รวมทั้งคนในบ้านไปมงยวา เพื่อกราบท่านเลดี ซายาดอว์ ซึ่งในขณะนั้นอายุราว 70 ปี   พอท่านเล่าถึงประสบการณ์การปฏิบัติของตนเองและการอบรมที่จัดขึ้นให้ท่านเลดี ซายาดอว์ฟัง ท่านอาจารย์ก็รู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่ง

ในการไปเยี่ยมเยียนครั้งนี้ ท่านเลดี ซายาดอว์ได้มอบไม้เท้าให้แก่อูเท็ต โดยกล่าวว่า

     "ศิษย์ที่ยิ่งใหญ่ของข้า จงรับไม้ตะพดนี่ไป แล้วก้าวต่อไปข้างหน้า รักษามันให้ดี ข้าไม่ได้มอบสิ่งนี้แก่เจ้าเพื่อให้มีอายุยืนยาว  แต่เป็นรางวัล เพื่อไม่ให้มีความวิบัติเกิดขึ้นกับชีวิตของเจ้าอีก  เจ้าประสบกับความสำเร็จแล้ว นับจากนี้ไปจะต้องเผยแผ่ธรรมเรื่องนามรูปให้แก่คน 6,000 คน  ธรรมะจากเจ้าจะขจรขจาย ทำให้ศาสนาแพร่ขยายออกไป จงช่วยเผยแผ่ศาสนาแทนข้าด้วย"

วันรุ่งขึ้น ท่านเลดี ซายาดอว์ก็เรียกประชุมพระทั้งหมดในวัด  และขอให้อูเท็ตสอนกรรมฐานพระเหล่านั้น 10-15 วัน ตอนนั้นซายาดอว์กล่าวในที่นั้นว่า

     "ทุกคนจงฟังให้ดี อูโพเท็ต อุบาสกจากพม่าตอนล่างผู้นี้เป็นศิษย์เอกของข้า สามารถสอนกรรมฐานได้เช่นเดียวกับข้า ผู้ใดที่ประสงค์จะเรียนกรรมฐาน ก็ขอให้ตามอุบาสกเท็ตไป เรียนรู้วิธีการปฏิบัติจากเขา และลงมือปฏิบัติ ส่วนเจ้าทายกเท็ต เจ้าจงเผยแผ่ธรรมแทนข้า โดยเริ่มต้นที่วัดของข้านี่"

ตอนนั้นอูเท็ตจึงได้สอนวิปัสสนาให้แก่พระ 25 รูปที่มีความรู้แตกฉานในด้านปริยัติ  ช่วงนี้เองที่ท่านได้รับสมญานามว่าซายาเท็ตจี (ซายาหมายถึงอาจารย์ ส่วนจีเป็นคำแสดงความเคารพ)

ท่านเลดี ซายาดอว์สนับสนุนให้ซายาเท็ตจีสอนวิปัสสนาแทนท่าน  ซายาเท็ตจีจดจำข้อเขียนของอาจารย์ได้มากมาย จนสามารถอธิบายธรรมโดยหยิบยกคัมภีร์มาอ้างอิง   แม้แต่ซายาดอว์ (พระอาจารย์) ที่ทรงความรู้ที่สุด ก็ยังไม่พบข้อผิดพลาดใดๆ จากท่าน  ถึงท่านเลดีซายาดอว์จะมอบหมายให้ท่านสอนวิปัสสนาแทน  ทว่าท่านซายาเท็ตจีก็รู้สึกหวาดหวั่นเนื่องจากตนเองไม่มีความรู้ทางด้านปริยัติ  ท่านจึงได้ก้มกราบพระอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างที่สุด แล้วกล่าวว่า

     "ในบรรดาศิษย์ทั้งหลายของท่านอาจารย์ กระผมเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องปริยัติน้อยที่สุด  การเผยแผ่ศาสนาด้วยการสอนวิปัสสนาตามที่ท่านมอบหมายนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก จึงเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหน่วง ด้วยเหตุนี้ กระผมจึงใคร่ขอความกรุณาว่า ถ้าหากกระผมมีความไม่กระจ่างในสิ่งใด ขอท่านอาจารย์ได้โปรดให้ความช่วยเหลือและคำชี้แนะ รวมทั้งตักเตือนด้วยนะขอรับ"

ท่านเลดีซายาดอว์รับปาก โดยกล่าวตอบว่า 

     "ข้าจะไม่ทอดทิ้งเจ้า แม้ในยามที่ข้าจากไปแล้วก็ตาม"

จากนั้นท่านซายาเท็ตจีและญาติๆ ก็ลากลับบ้าน ไปหารือกับคนอื่นๆ ในครอบครัว  เพื่อดำเนินการตามที่ท่านอาจารย์เลดีซายาดอว์ได้มอบหมาย  ท่านคิดถึงเรื่องตระเวนไปทั่วพม่าว่า น่าจะทำให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น  ทว่าพี่ภรรยาของท่านแย้งว่า 

     "เธอมีสถานที่ปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี่แล้ว และเราก็สามารถช่วยเหลืองานของเธอได้ ด้วยการจัดเตรียมอาหารให้แก่ผู้ที่มาเข้ารับการอบรม ทำไมถึงไม่สอนวิปัสสนาเสียที่นี่เล่า จะได้มีผู้คนมากมายพากันมาเรียนรู้วิปัสสนาที่นี่" 

ท่านเห็นพ้องและเริ่มจัดการอบรมที่ศาลาในหมู่บ้านเปียวบ่วยจี

และก็เป็นไปดังคำพูดที่พี่ภรรยาได้กล่าวไว้ มีผู้คนพากันมาเข้าอบรมวิปัสสนา จนชื่อเสียงของท่านซายาเท็ตจีในฐานะวิปัสสนาจารย์ขจรขจายออกไป  ท่านสอนชาวนาและกรรมกรทั่วๆ ไป ตลอดจนผู้ที่มีความรู้แตกฉานในด้านปริยัติ  หมู่บ้านดังกล่าวอยูไม่ไกลจากร่างกุ้งเมืองหลวงของพม่า ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้ปกครองของอังกฤษ   ดังนั้นข้าราชการและผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองอย่างท่านอูบาขิ่นจึงมาเข้ารับการอบรมด้วย

ต่อมาท่านซายาเท็ตจีได้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติที่มีคุณวุฒิและวัยวุฒิ อย่าง อู-นโย อูบาโซ และอูอองยุให้ช่วยดำเนินการอบรม เนื่องจากในแต่ละปีมีผู้มาเข้ารับการอบรมมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเพิ่มจำนวนเป็น 200 คน ซึ่งมีทั้งพระและชีรวมอยู่ด้วย จนสถานที่ไม่พอ  ดังนั้นศิษย์ที่ค่อนข้างมีประสบการณ์จึงต้องปฏิบัติอยู่ที่บ้านของตน  และมาที่ศาลาเพื่อฟังธรรมบรรยายเท่านั้น

ท่านซายาเท็ตจีกลับไปเยี่ยมเยียนศูนย์ของท่านเลดี ซายาดอว์เป็นครั้งคราว  ท่านรับประทานอาหารเพียงวันละมื้อ มีชีวิตอยู่อย่างสงบสันโดษเยี่ยงภิกษุ  ท่านไม่เคยพูดถึงการบรรลุธรรมของตนเอง  ถ้ามีคนเอ่ยถาม ท่านก็ไม่เคยตอบว่าบรรลุธรรมถึงขั้นไหนหรือศิษย์คนนั้นบรรลุธรรมขั้นไหน  แม้ผู้คนส่วนใหญ่ในพม่าจะเชื่อกันว่าท่านเป็นอนาคามี (ผู้บรรลุธรรมขั้นสุดท้ายก่อนจะหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงเป็นอรหันต์) และเรียกขานท่านว่าอนาคาซายาเท็ตจีก็ตาม

เนื่องจากในขณะนั้นมีวิปัสสนาจารย์ที่เป็นฆราวาสไม่มากนัก  ท่านซายาเท็ตจีจึงต้องเผชิญกับปัญหาบางอย่างที่พระสงฆ์ไม่เคยประสบ อาทิเช่น มีบางคนคัดค้านท่าน  เพราะท่านไม่มีความรู้แตกฉานในด้านปริยัติ  แต่ท่านก็ไม่เคยใส่ใจต่อคำวิจารณ์เหล่านั้น  หากปล่อยให้ผลจากการปฏิบัติธรรมเป็นที่ประจักษ์เอง

ท่านสอนวิปัสสนาเรื่อยมาเป็นเวลา 30 ปี โดยอาศัยประสบการณ์ของท่านเอง และหยิบยกหนังสือของท่านเลดี ซายาดอว์มาใช้อ้างอิงประกอบ   ในปีพ.ศ. 2488 ขณะที่มีอายุ 72 ปี ท่านก็ได้สั่งสอนผู้คนจำนวนหลายพันคน ซึ่งนับว่าท่านได้ปฏิบัติ หน้าที่จนลุล่วง  ต่อมาภรรยาของท่านได้เสียชีวิต และพี่ภรรยาเป็นอัมพาต  ส่วนตัวท่านเองก็มีสุขภาพเสื่อมถอยลง   ดังนั้น ท่านจึงยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่หลานสาวและหลานชาย โดยปันเนื้อที่ 50 เอเคอร์ไว้เป็นที่ปฏิบัติธรรม   นอกจากนี้ยังแจกจ่ายควายสำหรับไถนา 20 ตัวที่ใช้งานมานานให้แก่ผู้ที่ท่านเห็นว่าจะดูแลพวกมันเป็นอย่างดี  โดยให้พรพวกมันว่า 

     "พวกเจ้าเป็นผู้มีคุณที่คอยช่วยเหลือข้า เพราะพวกเจ้าทีเดียว ต้นข้าวจึงได้งอกงาม  ตอนนี้พวกเจ้าไม่ต้องทำงานอีกแล้ว ขอให้พวกเจ้าหลุดพ้นจากชีวิตเช่นนี้ ไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น"

จากนั้นท่านก็เดินทางไปร่างกุ้งเพื่อรักษาอาการป่วย และเยี่ยมเยียนศิษย์  ท่านบอกกับศิษย์บางคนว่าท่านจะเสียชีวิตที่ร่างกุ้ง  และศพจะถูกฌาปนกิจในที่ที่ไม่ใช่ฌาปนสถานมาก่อน  ทั้งยังบอกด้วยว่าอย่าเก็บเถ้ากระดูกของท่านไว้ในสถานที่สักการะ  เพราะท่านยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิง  ซึ่งนั่นหมายความว่าท่านยังไม่บรรลุอรหัตถผล

ศิษย์คนหนึ่งของท่านได้ก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาขึ้นที่อาร์ซานิกง  ทางเนินเขาด้านเหนือของเจดีย์ชเวดากอง ใกล้ๆ กับสถานที่หลบภัย ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  ท่านซายาเท็ตจีจึงใช้หลุมหลบภัยดังกล่าวเป็นที่ปฏิบัติธรรม  กลางคืนท่านจะพักอยู่กับผู้ช่วยอาจารย์ท่านหนึ่ง  ศิษย์จากร่างกุ้ง รวมทั้งท่านอูบาขิ่น อธิบดีกรมบัญชีกลาง  และท่านอูซานเต็น ผู้ตรวจการภาษีจะพากันมาเยี่ยมเยียนท่านเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย  ท่านมักบอกกล่าวแก่ทุกคนที่มาเยี่ยมว่าให้ตั้งใจปฏิบัติ และให้ปฏิบัติต่อพระและชีที่มาเข้ารับการอบรมด้วยความเคารพ  ให้มีความสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใด ก็ขอให้รำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ท่านซายาเท็ตจีมักจะแวะไปสักการะเจดีย์ชเวดากองทุกๆ เย็น  แต่หลังจากนั้นประมาณสัปดาห์ ท่านก็ล้มป่วยด้วยไข้หวัด เนื่องจากนั่งปฏิบัติในหลุมหลบภัย   แม้จะได้รับการรักษาจากหมอ  แต่อาการของท่านก็ทรุดลงเรื่อยๆ  ช่วงนี้หลานๆ ของท่านได้เดินทางจากเปียวบ่วยจีมายังร่างกุ้ง  และทุกๆ คืน ศิษย์ของท่านประมาณ 50 คนจะมานั่งปฏิบัติร่วมกัน  ซึ่งในระหว่างที่นั่งนี้ ท่านซายาเท็ตจีไม่ได้พูดอะไร นอกจากปฏิบัติไปเงียบๆ

ประมาณสี่ทุ่มของคืนวันหนึ่ง ระหว่างที่ท่านกำลังนั่งอยู่ท่ามกลางศิษย์จำนวนหนึ่ง (ท่านอูบาขิ่นไม่อาจมาร่วมได้) ท่านก็เริ่มหายใจดังและยาวขึ้น  ศิษย์สองคนจึงคอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด ในขณะที่คนอื่นๆ นั่งปฏิบัติไปเงียบๆ  พอถึงห้าทุ่มตรง ลมหายใจของท่านก็ยิ่งลึกขึ้น ลึกขึ้น จนดูเหมือนว่าลมหายใจเข้า-ออกแต่ละครั้งนั้นกินเวลานานถึง 5 นาที  หลังจากหายใจเช่นนี้อยู่สามครั้ง ท่านก็หยุดหายใจและจากไป

ศพของท่านได้รับการฌาปนกิจที่เนินเขาทางด้านเหนือของเจดีย์ชเวดากอง  ซึ่งต่อมาท่านอูบาขิ่นและศิษย์คนอื่นๆ ได้สร้างเจดีย์เล็กๆ เอาไว้  ทว่าสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงวิปัสสนาจารย์ผู้ประเสริฐท่านนี้ตลอดไป ก็คือ ภาระหน้าที่ในการเผยแผ่ธรรมะไปสู่ผู้คนทุกหมู่เหล่าในสังคมที่ท่านเลดี ซายาดอว์ได้มอบหมายแก่ท่านนั้น ยังคงได้รับการสืบสานเรื่อยมา