ท่านอาจารย์อูบาขิ่น

 

U Ba Khin


ท่านอาจารย์อูบาขิ่นหรือที่ชาวพม่าเรียกด้วยความเคารพว่า ซายาจี อูบาขิ่น  เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2442 ณ กรุงร่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่า  ท่านถือกำเนิดในครอบครัวที่ยากจน โดยเป็นบุตรชายคนเล็กในจำนวนทั้งหมดสองคนของบิดามารดา  เนื่องจากในสมัยนั้นประเทศพม่ายังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ  ชาวพม่าที่ต้องการความก้าวหน้าในการทำงาน จึงจำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษ  นับเป็นโชคดีของท่านอูบาขิ่นที่มีชายชราจากโรงงานใกล้ๆ ช่วยให้ท่านเข้าศึกษาในโรงเรียนของมิชชันนารี เมื่ออายุได้ 8 ปี   ท่านเป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง สามารถจดจำบทเรียนได้ทั้งหมด รวมทั้งท่องจำไวยากรณ์ภาษาอังกฤษได้ขึ้นใจ และสอบได้ที่หนึ่งทุกครั้ง จนได้รับทุนเล่าเรียน เมื่อจบการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนแห่งนี้แล้ว ครูชาวพม่าคนหนึ่งได้ช่วยให้ท่านเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาและเตรียมอุดมที่โรงเรียนเซนต์ปอล ซึ่งท่านก็มีผลการเรียนเป็นเลิศทุกปีอีกเช่นกัน

ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2460 ท่านสำเร็จการศึกษาจากเซนต์ปอล โดยได้รับรางวัลเหรียญทองและทุนศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย  แต่ความจำเป็นทางบ้านทำให้ท่านต้องออกมาหางานทำ ไม่อาจศึกษาต่อได้  ท่านอูบาขิ่นเข้าทำงานครั้งแรกกับหนังสือพิมพ์พม่าที่ชื่อเดอะซัน   แต่หลังจากนั้นก็สามารถสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งเสมียนที่สำนักงานกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีชาวพม่าเพียงไม่กี่คนทำงานอยู่ที่นั่น  ทั้งนี้เพราะชาวอังกฤษที่ปกครองพม่าในเวลานั้นมักจะเลือกเฉพาะชาวอังกฤษหรือชาวอินเดียเข้ารับราชการเป็นส่วนใหญ่   อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการกีดกัน แต่ด้วยความสามารถในการทำงานและการบริหารของท่าน ทำให้ท่านได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วยงานในเวลา 9 ปีต่อมา

ท่านอูบาขิ่นได้ทดลองปฏิบัติวิปัสสนาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2480 ขณะอายุ 38 ปี ตอนนั้นมีผู้ที่ท่านรู้จักคนหนึ่งซึ่งไปเข้าอบรมวิปัสสนากับท่านซายาเท็ตจี ได้มาเยี่ยมถึงบ้าน และอธิบายวิธีการปฏิบัติอานาปานสติให้ฟัง  เมื่อท่านทดลองฝึกปฏิบัติดู ก็ปรากฎว่าสามารถทำจิตให้มีสมาธิตั้งมั่นได้เป็นอย่างดี  จึงเกิดความสนใจและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้ารับการอบรมเต็มหลักสูตร  ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะศึกษาวิปัสสนานี้ เห็นได้จากการที่ท่านตัดสินใจขอลางาน มุ่งหน้าไปยังสำนักของท่านซายาเท็ตจีที่เปียวบ่วยจีในทันที หลังจากที่ทดลองฝึกปฏิบัติอานาปานสติได้เพียงอาทิตย์เดียว

สำนักของท่านซายาเท็ตจีนั้นตั้งอยู่ห่างออกไปทางใต้ของนครร่างกุ้ง  ผู้ที่จะเดินทางไปต้องข้ามแม่น้ำร่างกุ้ง และเดินเท้าตัดทุ่งนาเป็นระยะทางหลายไมล์   ถึงแม้ว่าหมู่บ้านจะอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียงแค่ 8 ไมล์  แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาก่อนฤดูเก็บเกี่ยว  ท้องนาจึงยังคงมีสภาพเป็นโคลนตมเฉอะแฉะ ทำให้การเดินทางต้องใช้เวลานานกว่าปกติ  ผู้เดินทางจะต้องข้ามแม่น้ำที่ดูตื้นๆ ทว่ากว้างใหญ่เวิ้งว้างคล้ายทะเล  ตอนที่ท่านมาถึงแม่น้ำร่างกุ้งนั้นเป็นช่วงน้ำลง  เรือที่ว่าจ้างไม่อาจพาท่านไปถึงจุดหมายปลายทางได้ จึงต้องส่งท่านลงกลงทาง  และต่อจากนั้นก็ต้องเดินลุยโคลนที่ท่วมหัวเข่าไปจนถึงสำนักของท่านซายาเท็ตจี

และในคืนนั้นเอง ท่านซายาเท็ตจีก็ได้สอนวิธีการปฏิบัติอานาปานสติให้แก่ท่านอูบาขิ่นและชาวพม่าอีกคน ซึ่งทั้งสองก็ปฏิบัติได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งท่านซายาเท็ตจีตัดสินใจสอนวิปัสสนาให้ในวันถัดมา  แม้จะเป็นการฝึกปฏิบัติหลักสูตร 10 วันครั้งแรกของท่านอูบาขิ่น  แต่ท่านก็ปฏิบัติได้ผลดียิ่ง  และหลังจากนั้นท่านก็ปฏิบัติเป็นประจำ  โดยได้เดินทางมาฝึกปฏิบัติที่สำนักของท่านซายาเท็ตจีบ่อยครั้ง  รวมทั้งได้ปฏิบัติร่วมกันกับท่านซายาเท็ตจี เมื่อท่านซายาเท็ตจีเดินทางเข้ามาในร่างกุ้ง

เมื่อกลับจากการเข้ารับการฝึกอบรมครั้งแรกแล้ว ท่านอูบาขิ่นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการพิเศษประจำสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของประเทศพม่า  พอถึงต้นปีพ.ศ.2484 ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่มีส่วนสำคัญต่อชีวิตของท่านคือ ระหว่างที่เดินทางไปทางตอนเหนือของประเทศด้วยเรื่องงานราชการ  ท่านอูบาขิ่นได้พบกับท่านเวบู ซายาดอว์โดยบังเอิญ  ท่านเวบู ซายาดอว์ผู้นี้เป็นพระภิกษุผู้ซึ่งชาวพม่าให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง โดยเชื่อกันว่าท่านเป็นอริยสงฆ์ที่บรรลุอรหัตผล  และก่อนที่ท่านอูบาขิ่นจะขอนมัสการลากลับ หลังจากที่ได้สนทนาด้วยอัธยาศัยที่ต้องกันและนั่งปฏิบัติร่วมกัน ท่านเวบู ซายาดอว์ก็ได้กล่าวกับท่านอูบาขิ่นว่า ถึงเวลาที่ท่านอูบาขิ่นจะต้องลงมือสอนธรรมะให้แก่ผู้คนทั้งหลายแล้ว อย่าได้รีรออีกต่อไป  เพราะบารมีที่สั่งสมไว้มีมากพอแล้ว  เนื่องจากบุคคลในเพศฆราวาสที่สามารถปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ถึงขั้นสูง โดยมิได้บวชเรียนเป็นพระมาก่อนอย่างท่านอูบาขิ่นนั้น นับว่าหาได้ยากยิ่ง  ท่านเวบู ซายาดอว์ยังได้กล่าวต่อด้วยว่า ขอท่านอูบาขิ่นจงอย่าปล่อยให้ผู้ที่ได้พบกับท่านพลาดโอกาสที่จะได้รับธรรมะเลย

กระแสธรรมะอันแรงกล้าของภิกษุผู้ทรงคุณธรรมอย่างท่านเวบู ซายาดอว์ ได้ผลักดันให้ท่านอูบาขิ่นต้องเริ่มลงมือสอนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง  ทว่าในระยะแรก ท่านก็ยังมิได้สอนอย่างเป็นจริงเป็นจัง จนกระทั่งหลังจากนั้นมาประมาณ 10 ปี   แต่อย่างไรก็ตามผลจากการที่ได้พบกับท่านเวบู ซายาดอว์ ทำให้ท่านอูบาขิ่นได้เริ่มต้นชีวิตของการเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนา

ท่านซายาเท็ตจีเองก็สนับสนุนให้ท่านอูบาขิ่นสอนวิปัสสนาเช่นกัน  ครั้งหนึ่งในสมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองพม่า ท่านซายาเท็ตจีได้เดินทางเข้ามาในร่างกุ้งและพักอยู่กับศิษย์ผู้หนึ่ง  เมื่อศิษย์ผู้นี้และศิษย์คนอื่นๆ แสดงความปรารถนาว่าอยากจะพบกับท่านบ่อยครั้งขึ้น  ท่านกล่าวว่า
"ข้าก็เป็นเหมือนหมอที่จะมาเยี่ยมเยียนพวกเจ้าได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่อูบาขิ่นนั้นเป็นเสมือนบุรุษพยาบาลที่จะมาหาพวกเจ้าเมื่อใดก็ได้ "

ท่านอูบาขิ่นรับราชการต่อมาอีก 26 ปี ในระหว่างนั้นก็ได้รับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลางเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2491 อันเป็นวันที่ประเทศพม่าได้รับเอกราช  และในช่วงเวลา 20 ปีหลังจากนั้น ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่งในคณะรัฐบาล  ส่วนใหญ่แล้วท่านมักจะต้องทำงานอย่างน้อย 2 ตำแหน่งในเวลาเดียวกัน และแต่ละตำแหน่งล้วนมีความรับผิดชอบสูงเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีทั้งสิ้น  มีครั้งหนึ่งที่ท่านต้องรั้งตำแหน่งอธิบดีกรมถึง 3 กรมพร้อมๆ กันเป็นเวลา 3 ปี  และอีกครั้งหนึ่ง ท่านต้องดูแลถึง 4 กรมในเวลาเดียวกันเป็นเวลา 1 ปีเต็ม จนต่อมาในปีพ.ศ.2499 รัฐบาลพม่าได้มอบสมัญญานาม "ตะเรย์ สิดู" อันทรงเกียรติแก่ท่าน  ท่านอาจารย์อูบาขิ่นอุทิศตนให้กับการสอนวิปัสสนาเป็นพิเศษในช่วง 4 ปีสุดท้ายของชีวิต  ส่วนช่วงเวลาอื่นๆ โดยมากแล้ว ท่านมักจะน้อมนำธรรมะที่ได้จากการปฏิบัติวิปัสสนาไปประยุกต์ใช้กับงานราชการที่ท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจ  และความรับผิดชอบต่อครอบครัวในฐานะของผู้ครองเรือน

ปีพ.ศ. 2493 ท่านอูบาขิ่นได้ก่อตั้งชมรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้นภายในสำนักงานกรมบัญชีกลาง เพื่อให้คนทั่วไป  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในกรมฯ ได้ฝึกปฏิบัติ   ต่อมาในปีพ.ศ. 2495 ท่านได้เปิดศูนย์วิปัสสนานานาชาติ (International Meditation Centre-I.M.C.) ขึ้น  ศูนย์แห่งนี้อยู่ห่างจากเจดีย์ชเวดากองอันมีชื่อเสียงไปทางทิศเหนือ 2 ไมล์ มีผู้ปฏิบัติทั้งที่เป็นชาวพม่าและชาวต่างชาติจำนวนมากมาเรียนรู้ธรรมะจากท่าน

ในปีถัดมา คือ ปีพ.ศ. 2496 ท่านเวบู ซายาดอว์พร้อมด้วยพระลูกศิษย์หลายรูป ได้รับนิมนต์จากท่านอูบาขิ่นมาพำนักที่ศูนย์วิปัสสนานานาชาติเป็นเวลาถึง 1 สัปดาห์เต็ม เพื่อปฏิบัติวิปัสสนาและแผ่เมตตา  ซึ่งนับเป็นปรากฎการณ์อันอัศจรรย์ยิ่ง  เพราะโดยปกติแล้วท่านเวบู ซายาดอว์จะไม่ไปค้างแรมยังที่ใดเลย นอกจากที่บ้านเดิมของท่านที่ตำบลอินจิมปิและที่สำนักวิปัสสนาอีก 2 แห่งของท่านเอง คือ ที่เชาเซะ และชเวโบ   นอกจากนี้ยังนับว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่พระภิกษุจะมาพักอยู่ในสำนักวิปัสสนาของอาจารย์ที่เป็นฆราวาส

ต่อมาท่านอูบาขิ่นได้ตัดสินใจทำตามขนบประเพณีของชาวพม่าที่ว่า ลูกผู้ชายทุกคนจะต้องบวชอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต โดยมิได้ปริปากให้ใครทราบล่วงหน้า  ท่านกับศิษย์ชาวพม่าอีกคนหนึ่งได้เดินทางไปพบท่านเวบู ซายาดอว์ที่สำนักชเวโบ และบวชอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 10 วัน  โดยมีท่านเวบู ซายาดอว์เป็นพระอุปัชฌาย์

ระหว่างปีพ.ศ.2497 จนถึงปีพ.ศ. 2520 อันเป็นปีที่ท่านเวบูซายาดอว์ ดับขันธ์  ท่านเวบู ซายาดอว์มักจะเดินทางไปสอนธรรมะทางภาคใต้ของพม่าเป็นประจำปีละครั้ง  และในระหว่างนั้น ช่วงที่ท่านอูบาขิ่นยังมีชีวิตอยู่  ท่านจะแวะมาเยี่ยมเยียนศูนย์วิปัสสนานานาชาติเสมอ  การที่มีอริยสงฆ์อย่างท่านเวบู ซายาดอว์มาพักอยู่ด้วย จึงถือเป็นสิริมงคลอันใหญ่หลวงของศูนย์วิปัสสนาแห่งนี้

นอกจากนี้ ท่านอูบาขิ่นยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการจัดงานสังคายนาครั้งที่หกหรือฉัฏฐสังคายนา ณ กรุงร่างกุ้ง ระหว่างปีพ.ศ. 2497-2499  ท่านเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์กร 2 แห่งในปีพ.ศ.2493  ซึ่งต่อมาได้ผนวกรวมเป็นสภาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า (Union of Burma Buddha Sasana Council-U.B.S.C.) อันมีบทบาทสำคัญในการสังคายนาครั้งใหญ่   ท่านดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกบริหารของสภาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่าและเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายปฏิบัติ  ทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีกิติมศักดิ์ของสภา ซึ่งต้องรับผิดชอบเรื่องการจัดการบัญชีรายรับจากเงินบริจาคและค่าใช้จ่ายทั้งหมด  ท่านอาจารย์อูบาขิ่นยังคงมีบทบาทอยู่ใน U.B.S.C จวบจนกระทั่งปีพ.ศ. 2510 โดยผสานความรับผิดชอบและความสามารถในฐานะของฆราวาสและเจ้าหน้าที่รัฐบาล เข้ากับความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์  นอกจากท่านจะทำงานรับใช้สาธารณะแล้ว ยังให้การอบรมวิปัสสนาเป็นประจำที่ศูนย์ของท่านอีกด้วย  สำหรับชาวตะวันตกบางคนที่มาร่วมงานฉัฏฐสังคายนาได้รับคำแนะนำให้ไปเข้าอบรมวิปัสสนากับท่านอูบาขิ่น  เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีวิปัสสนาจารย์ท่านอื่นที่มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษเลย

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ท่านอูบาขิ่นมีงานราชการรัดตัว  จึงไม่มีโอกาสได้ให้การอบรมวิปัสสนาแก่ศิษย์จำนวนมาก ศิษย์ชาวพม่าของท่านส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในสังกัดของท่านเอง  ส่วนศิษย์ชาวอินเดียโดยมากเป็นผู้ที่ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าแนะนำไป  สำหรับศิษย์ชาวต่างชาติของท่านนั้นมีจำนวนไม่มากนัก และก็มาจากแหล่งต่างๆ กัน เช่น เป็นชาวตะวันตกที่หันมานับถือศาสนาพุทธ  เป็นนักวิชาการ  หรือเป็นพวกที่อยู่ในวงการฑูตที่ประจำกรุงร่างกุ้ง  บางครั้งท่านก็ได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาธรรมแก่ชาวต่างชาติในพม่า ซึ่งปาฐกถาธรรมต่างๆ เหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์และรวบรวมไว้ในหนังสือ "What Buddhism Is" และ " The Real Values of True Buddhist Meditation"

ในที่สุดท่านอาจารย์อูบาขิ่นได้รับอนุญาตให้เกษียณอายุราชการเมื่อปีพ.ศ.2510  และนับตั้งแต่เกษียณอายุราชการมาจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตในปีพ.ศ. 2514  ท่านได้อุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการสอนวิปัสสนา ด้วยการมาอยู่ประจำที่ศูนย์วิปัสสนานานาชาติที่ท่านก่อตั้งขึ้น   ก่อนหน้าที่ท่านจะสิ้นชีวิตไม่นานนัก ท่านได้ย้อนรำลึกถึงผู้ที่เคยให้ความช่วยเหลือท่านมา อาทิเช่น ชายชราที่ช่วยให้ท่านได้เข้าโรงเรียนเป็นครั้งแรก  ครูชาวพม่าที่ช่วยให้ท่านเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์ปอล และคนอื่นๆ อีกหลายคน  ซึ่งในจำนวนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่ได้พบกันเลยเป็นเวลาถึง 40 ปี  และเมื่อท่านได้อ่านพบชื่อของเพื่อนคนนี้ในหนังสือพิมพ์ ก็ได้ให้คนเขียนจดหมายตามคำบอกไปถึงเพื่อนผู้นี้  ตลอดจนเขียนถึงลูกศิษย์ต่างชาติบางคน  รวมทั้งท่านอาจารย์โกเอ็นก้าด้วย   และในวันที่ 18 มกราคมปีนั้นเอง ท่านก็ได้ล้มป่วยลงอย่างกะทันหัน  เมื่อเพื่อนเก่าผู้นั้นได้รับจดหมายของท่านในวันที่ 20 มกราคม เขาก็ได้รับทราบข่าวมรณกรรมของท่านอูบาขิ่นทางหนังสือพิมพ์ในวันเดียวกัน

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้รับทราบข่าวมรณกรรมของท่านอาจารย์อูบาขิ่น  ขณะที่อยู่ในระหว่างดำเนินการอบรมวิปัสสนา  ท่านจึงส่งโทรเลขพระธรรมบทบาลีที่มีชื่อเสียงไปถึงศูนย์วิปัสสนานานาชาติดังนี้

อนิจจา วต สังขารา อุปปทวยธัมมิโน
อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปสโม สุโข

ซึ่งมีความหมายว่า

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง แม้เกิดมาก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความระงับคือไม่ยึดถือสังขารเหล่านั้นเป็นสุข

ท่านเวบู ซายาดอว์ได้กล่าวกับศิษย์ของท่านอาจารย์อูบาขิ่นที่เข้าพบ ณ ศูนย์วิปัสสนานานาชาติ  ระหว่างที่ท่านเดินทางเข้ามากรุงร่างกุ้ง  หลังจากที่ท่านอาจารย์อูบาขิ่นถึงแก่กรรมแล้วว่า "คนอย่างอูบาขิ่นจะไม่มีวันตาย ถึงแม้พวกเจ้าจะไม่อาจพบกับอูบาขิ่นได้อีก  แต่คำสอนของเขาจะยังคงอยู่ตลอดไป ไม่เหมือนกับคนบางคนที่แม้จะยังมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนกับได้ตายไปแล้ว  เพราะเขามีชีวิตอยู่อย่างไร้ค่า ไม่เคยได้สร้างประโยชน์ให้ใคร"

หลังจากที่ท่านอาจารย์อูบาขิ่นถึงแก่กรรมไปได้หนึ่งปี ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้เขียนคำไว้อาลัยถึงท่านว่า
"ถึงแม้ท่านอาจารย์จะจากไปขวบปีแล้ว แต่เมื่อข้าพเจ้าได้เฝ้าดูความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของการอบรมวิปัสสนา ก็ยิ่งมั่นใจว่าเป็นเพราะเมตตาของท่านนั่นเองที่ทำให้ข้าพเจ้าเกิดแรงบันดาลใจ และมีพลังที่จะรับใช้ผู้คนจำนวนมาก...เห็นได้ชัดเจนว่าพลังของธรรมะนั้นหาที่สุดมิได้ ความปรารถนาของท่านอาจารย์กำลังสัมฤทธิ์ผล คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้รับการรักษาสืบทอดมาหลายศตวรรษ กำลังมีผู้ปฏิบัติและได้รับอานิสงส์ ณ ที่นี้และบัดนี้"

ท่านอูบาขิ่นเองก็เคยกล่าวว่า
"เวลาของวิปัสสนาได้มาถึงแล้ว  นั่นคือเวลาแห่งการฟื้นฟูการปฏิบัติวิปัสสนา หากคนที่มาฝึกปฏิบัติ  มาด้วยใจที่เปิดกว้า ง เมื่อได้รับการอบรมจากอาจารย์ผู้มีความสามารถ คนเหล่านั้นก็จะต้องได้รับผลที่ดีและยั่งยืน ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดอย่างไม่ต้องสงสัย  เพราะผลดีจากการปฏิบัติวิปัสสนาจะเกื้อกูลให้คนผู้นั้นมีชีวิตอยู่อย่างราบรื่น และประสบแต่ความสุขสงบตราบชั่วชีวิต"

ถึงแม้ว่าท่านอูบาขิ่นจะล่วงลับไปแล้ว  แต่ความหวังและความปรารถนาของท่านที่จะให้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แผ่ขยายไปทั่วโลก  เพื่อให้หมู่ชนผู้มีความทุกข์ทั้งหลายได้นำไปปฏิบัติและหลุดพ้นจากความทุกข์ ก็ได้ปรากฎเป็นจริงแล้ว