คุณค่าของการรับใช้ธรรมะ PDF Print E-mail

การรับใช้ธรรมะจะได้รับอะไรตอบแทน  การรับใช้ธรรมะมิใช่เป็นการทำเพื่อแลกกับอาหารและที่พัก หรือเพื่อให้ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่สงบสุข  หรือเพื่อหลบหลีกความรับผิดชอบในชีวิตประจำวันของโลกภายนอก  เรื่องนี้ผู้รับใช้ธรรมะทุกคนย่อมตระหนักดี

ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาและได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติ เมื่อได้เห็นการรับใช้อย่างปราศจากอัตตาของอาจารย์ผู้สอนธรรมะ ของผู้จัดการหลักสูตร ของผู้รับใช้ธรรมะ และเห็นว่าการกระทำดังนี้ทำให้เขาได้ลิ้มรสอันประเสริฐของธรรมะ  เนื่องจากคนเหล่านี้ได้เริ่มก้าวเดินไปบนเส้นทางของอริยมรรคแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่เขาจะเกิดความกตัญญู อยากตอบแทนบุญคุณของผู้อื่นที่ทำให้เขาได้รับธรรมะ

เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนธรรมะ ผู้จัดการหลักสูตร รวมทั้งผู้รับใช้ธรรมะ ทุกคนต่างให้ธรรมทานโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง สิ่งของ หรือชื่อเสียง  ดังนั้น ทางเดียวที่จะตอบแทนบุญคุณของคนเหล่านี้ก็คือ ช่วยให้กงล้อของธรรมะหมุนต่อไป เพื่อให้ผู้อื่นได้รับธรรมะ โดยการรับใช้อย่างปราศจากอัตตา  นี่คือเจตนาอันบริสุทธิ์ของผู้รับใช้ธรรมะ

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาที่ค่อยๆ เจริญในธรรม จะค่อยๆ ละนิสัยเก่าๆ ที่เห็นแก่ตัว หันมาให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น  เขาจะสังเกตเห็นว่าคนทั่วไปมีแต่ความทุกข์ คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ก็ล้วนเต็มไปด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น  แม้แต่ตนเองก่อนที่จะพบกับธรรมะก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ซึ่งทำให้เขารู้ดีว่าหนทางเดียวที่คนทั้งหลายจะพบกับความสุขอย่างแท้จริงก็คือ เมื่อคนเหล่านั้นได้พบธรรมะอันบริสุทธิ์  การได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในตนเอง ทำให้เกิดมุทิตาจิต และความรักความเมตตา อยากที่จะช่วยผู้คนทั้งหลายให้หลุดพ้นจากความทุกข์  เมื่อความเมตตาล้นหลั่งออกจากใจ ก็กลายเป็นเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะช่วยผู้อื่นให้ออกจากทุกข์

การที่จะเป็นอาจารย์ผู้สอนธรรมะได้นั้น ต้องใช้เวลาปฏิบัติหลายๆ ปี และต้องได้รับการฝึกให้สอนธรรมะ  แต่การช่วยเหลือผู้อื่นที่เข้ารับการอบรมให้ได้รับธรรมะ ก็อาจทำได้โดยการให้บริการในด้านต่างๆ ระหว่างการอบรม  การเป็นผู้รับใช้ธรรมะที่รับใช้ด้วยความถ่อมตัว เรียบง่าย จะเป็นการยกระดับจิตใจเป็นอย่างดี

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจะเริ่มเข้าใจกฎธรรมชาติ กล่าวคือ การกระทำใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจาที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน จะนำความเดือนร้อนมาสู่ผู้กระทำด้วย  ในทำนองเดียวกัน การกระทำใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจาที่ช่วยลดความเดือดร้อน และสร้างความสงบสุขให้ผู้อื่น ย่อมนำความสงบสุขมาสู่ผู้กระทำเช่นเดียวกัน   ดังนั้นการช่วยเหลือผู้อื่นจึงเท่ากับเป็นการช่วยตนเองในเวลาเดียวกัน ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจึงสนใจที่จะช่วยผู้อื่น ซึ่งจะเป็นการสร้างบารมีอันจะทำให้ตนเองก้าวหน้าในธรรมะอย่างรวดเร็วและมั่นคง  ความเข้าใจในความจริงอย่างถูกต้องเช่นนี้ จะกระตุ้นให้เกิดความปรารถนาที่จะรับใช้ธรรมะ เพื่อช่วยให้ผู้อื่นได้รับธรรมะและหลุดพ้นจากความทุกข์

ทำอย่างไรจึงจะให้บริการได้ดีที่สุด  ถ้าเราไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง แทนที่จะเป็นการช่วยผู้อื่น เราอาจทำร้ายเขา  เพราะไม่ว่าการเผยแพร่ธรรมะจะเป็นสิ่งประเสริฐเพียงใด  แต่ถ้าผู้ให้บริการมีเจตนาที่ไม่ถูกต้องการกระทำนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับอย่างแท้จริง การให้บริการจะไม่เป็นประโยชน์  ถ้าเป็นการสร้างอัตตาแก่ผู้ให้บริการ หรือผู้ให้บริการหวังสิ่งตอบแทน หรือหวังคำสรรเสริญ หรือคำขอบคุณ

ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนี้ท่านให้บริการ ท่านกำลังฝึกนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน  เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ใช่เป็นการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน  การเรียนรู้ที่จะใช้ธรรมะในการช่วยเหลือผู้เข้ารับการอบรมในสถานการณ์ต่างๆ ในโลกเล็กๆ ของศูนย์ปฏิบัติธรรม  จะเป็นการฝึกให้ท่านรับใช้ผู้อื่นในโลกภายนอกได้ดี  ในการรับใช้ของท่าน ไม่ว่าผู้อื่นจะมีความประพฤติที่ไม่น่าพอใจสักเพียงใด  ท่านก็จะฝึกรักษาอุเบกขาแห่งจิต และสร้างแต่ความรักความเมตตาให้แก่เขา  นี่คือสิ่งที่ท่านจะเรียนรู้  เพราะท่านก็คือผู้ที่กำลังฝึกปฏิบัติคนหนึ่งเช่นเดียวกันกับผู้เข้ารับการอบรมคนอื่นๆ จงพยายามเรียนรู้ในระหว่างที่รับใช้ผู้อื่นด้วยความถ่อมตน  จงระลึกอยู่เสมอว่า เรามาเพื่อฝึกรับใช้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน เรารับใช้เพื่อให้ผู้อื่นได้ธรรมะ เราจะทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้รับการอบรมและทั้งหมดนี้ก็เป็นการช่วยตัวเราเอง เป็นการรับใช้ตัวเราเอง

ขอให้ทุกท่านจงเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ขอให้ท่านจงฝึกสร้างความรักความเมตตา ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น  ขอให้ท่านทั้งหลายจงก้าวหน้าในธรรม ได้พบกับความสงบอันแท้จริง มิตรไมตรีอันแท้จริง ความสุขอย่างแท้จริง

(แปลจากคำบรรยายเรื่อง Dhamma service ของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ที่ออสเตรเลีย)
ขอให้ทุกท่านจงได้พบกับความสุขอันแท้จริง