ประวัติท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

Goenka

(ชาตะ 30 มกราคม 2467 – มรณะ 29 กันยายน 2556)

 

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเป็นชาวอินเดียที่ถือกำเนิดในประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ.2467   ท่านได้ประกอบธุรกิจจนประสบความ สำเร็จมีชื่อเสียงมากตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม  ทั้งได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในพม่า  รวมทั้งเป็นประธานองค์กรต่างๆ อาทิเช่น  หอการค้ามาร์วารีแห่งพม่าและสมาคมพานิชย์และอุตสาหกรรมแห่งร่างกุ้ง  นอกจากนี้ยังร่วมเดินทางไปต่างประเทศกับคณะผู้แทนการค้าของสหภาพพม่าในฐานะ ที่ปรึกษาอยู่บ่อยๆ

เมื่ออายุ 31 ปี ท่านได้ทดลองเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหลักสูตร 10 วันเป็นครั้งแรกกับท่านอาจารย์อูบาขิ่น (วิปัสสนา-จารย์ที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่งผู้หนึ่ง)  หลังจบจากการปฏิบัติตามหลักสูตร 10 วันแล้ว ท่านโกเอ็นก้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในเนื้อหาสาระของคำสอนและในแนวทาง ปฏิบัติเป็นอย่างมาก  จึงปวารณาตัวเข้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง  จนต่อมาท่านอาจารย์อูบาขิ่นได้แต่งตั้งให้ท่านทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วย สอน


ปีพ.ศ.2512 ท่านได้เดินทางกลับไปยังประเทศอินเดียเพื่อเยี่ยมมารดาที่ล้มป่วย   ระหว่างที่อยู่ในอินเดีย ท่านได้จัดอบรม วิปัสสนาให้แก่มารดาและญาติพี่น้อง  ซึ่งปรากฎว่ามีผู้ให้ความสนใจเป็นอันมาก  นับจากนั้นขบวนการเอหิปัสสิโกก็ได้เริ่มต้น  จากปากต่อปากที่บอกต่อๆ กันไป ทำให้มีผู้มาขอเข้าปฏิบัติกันมากขึ้น


และจากการที่ท่านอาจารย์อู บาขิ่นมีความฝังใจอยู่แต่เดิมว่า ประเทศอินเดียมีบุญคุณอย่างล้นเหลือที่ได้หยิบยื่นธรรมอันบริสุทธิ์ขององค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่ประเทศพม่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน แต่ธรรมอันล้ำค่านี้กลับได้สูญหายไปจากประเทศอินเดียอันเป็นต้นกำเนิดจน เกือบหมดสิ้น  ท่านโกเอ็นก้าจึงมีความปรารถนาที่จะทดแทนคุณประเทศอินเดีย ด้วยการหาทางนำเอาธรรมะอันล้ำค่านี้กลับไปเผยแผ่อีกครั้ง  ซึ่งท่านอาจารย์อูบาขิ่นก็ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท่านเปิดการอบรม วิปัสสนาในแนวทางนี้ขึ้นในประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง


ปี พ.ศ.2517 ท่านจึงได้ก่อตั้งสถาบันวิปัสสนานานาชาติ "ธรรมคีรี" ขึ้นที่เมืองอิกัตปุรี ใกล้ๆ กับเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดียนับจากนั้นมาก็ได้มีการจัดอบรมวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันและหลักสูตรระยะยาวต่อเนื่องเรื่อยมา  ปีพ.ศ.2522 ท่านเริ่มเดินทางไปเผยแผ่วิปัสสนาตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก  ท่านได้อำนวยการสอนวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันในประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ ทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออกกว่า 400 หลักสูตร  หลักการสอนของท่านโกเอ็นก้าได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ทั้งในอินเดีย  ประเทศที่ยังคงมีความแตกต่างทางด้านชนชั้นและศาสนาอย่างมาก  และจากทั่วโลก  ทั้งนี้เพราะคำสอนที่มีลักษณะเป็นสากล มิได้ขัดต่อหลักศาสนาใด   ท่านเน้นเสมอว่ามนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด นับถือศาสนาใด และมีผิวสีอะไร  ต่างก็มีความทุกข์ในรูปแบบเดียวกันทั้งสิ้น  ในเมื่อความทุกข์ของมนุษย์เป็นสากล วิธีการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความทุกข์จึงต้องเป็นสากลเช่นกัน


ต่อ มาท่านได้เริ่มแต่งตั้งอาจารย์ผู้ช่วยให้ช่วยดำเนินการอบรมแทนท่าน  โดยใช้เทปและวิดีโอของท่านเป็นแนวทางในการสอน เพื่อรองรับกับความต้องการที่จะเข้าอบรมซึ่งเพิ่มสูงขึ้น  ทุกวันนี้มีอาจารย์ผู้ช่วยกว่า 700 ท่าน และอาสาสมัครช่วยงาน ต่างๆ อีกนับพันๆ คน  มีการจัดอบรมวิปัสสนาในประเทศต่างๆ กว่า 90 ประเทศทั่วโลก  ทั้งในอิหร่าน มัสกัต อาหรับอิมิเรสต์ อัฟริกาใต้ ซิมบับเว จีน มองโกเลีย รัสเซีย เซอร์เบีย ไต้หวัน กัมพูชา เม็กซิโกและประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้  โดยมีการ ก่อสร้างศูนย์วิปัสสนาทั้งสิ้น 80 แห่งใน 21 ประเทศทั่วโลก  ในแต่ละปีจะมีการจัดอบรมหลักสูตรวิปัสสนาทั่วโลกกว่าหนึ่งพัน หลักสูตร  โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าอบรม ที่พักหรือค่าอาหารใดๆ  ขึ้นอยู่กับความสมัครใจที่จะบริจาค  ทั้งตัวท่านอาจารย์ โกเอ็นก้าเองและอาจารย์ผู้ช่วยต่างๆ ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากการอบรมดังกล่าวแม้แต่น้อย 


ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาธรรมตามสถาบันต่างๆ รวมทั้งในเวทีเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  และการประชุมสุดยอดสันติภาพโลกสหัสวรรษใหม่ที่สหประชาชาติด้วย

 

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าที่เคารพได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อคืนวันที่ 29 กันยายน 2556 ด้วยวัย 90 ปี   พิธีฌาปนกิจได้จัดขึ้นที่อินเดียในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2556 เวลา10.30 น.(ตรงกับเวลา 12.00น. ในประเทศไทย)

 

ศิษย์ในประเทศไทยเคารพอัฐิท่านโกเอ็นก้า

 

7 ตุลาคม พ.ศ. 2556 - เมื่อเวลา 7.00 น. ประชาชนและผู้ปฏิบัติวิปัสสนาเข้าสักการะเถ้าอัฐิของท่านสัตยา นารายัน โกเอ็นก้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ. สมุทรปราการ ก่อนกลับสู่ประเทศพม่า

เช้าตรู่วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประชาชนและผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจำนวนมากได้เข้าสักการะเถ้าอัฐิ ของท่านสัตยา นารายัน โกเอ็นก้า วิปัสสนาจารย์คนสำคัญ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ. สมุทรปราการ โดยทางท่าอากาศยานฯ อนุญาตให้ประชาชนและศิษย์เข้าสักการะเถ้าอัฐิได้เป็นกรณีพิเศษในระหว่างการ รอเปลี่ยนเครื่องบินไปยังย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อลอยเถ้าอังคาร ณ แผ่นดินเกิดของท่าน

ท่านสัตยา นารายัน โกเอ็นก้า (Satya Narayan Goenka) เป็นวิปัสสนาจารย์ฆราวาสผู้เผยแผ่การปฏิบัติวิปัสสนาให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางในระดับนานาชาติ  คน ไทยมักเรียกท่านอย่างคุ้นเคยด้วยชื่อสกุลว่า "ท่านโกเอ็นก้า" เกิดในครอบครัวชาวอินเดียนับถือฮินดูที่ลงหลักปักฐานในประเทศพม่า ท่านโกเอ็นก้าเติบโตเป็นนักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยัง น้อย ก่อนจะได้เรียนวิปัสสนากับท่านอูบาขิ่น วิปัสสนาจารย์ฆราวาสคนสำคัญของพม่า และอุทิศตนฝึกปฏิบัติและทำงานในศูนย์วิปัสสนาที่ย่างกุ้งนาน 14 ปี

พ.ศ. 2512 ท่านโกเอ็นก้าได้กลับไปยังอินเดียเพื่อเริ่มต้นสอนวิปัสสนาเป็นครั้งแรกแก่ มารดาและญาติมิตร ก่อนจะเปิดหลักสูตรวิปัสสนา และก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางของท่านอูบาขิ่นขึ้นในอินเดีย ประเทศต้นกำเนิดของการวิปัสสนาในเวลาต่อมา ท่านโกเอ็นก้าเน้นย้ำเสมอว่าธรรมะเป็นของสากล และการปฏิบัติวิปัสสนาไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะหมู่ศาสนิกในศาสนาใดศาสนา หนึ่งเท่านั้น   ศูนย์วิปัสสนา 172 แห่งแทบทุกทวีป รวมที่มีอยู่ในเมืองไทย 9 แห่ง เป็นรูปธรรมของการสอนวิปัสสนาที่ก้าวข้ามพรมแดนของเชื้อชาติศาสนาและแพร่หลายไปทั่วโลก

นอกจากก่อตั้งสถาบันวิจัยวิปัสสนาขึ้นในอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2528 แล้ว ท่านโกเอ็นก้ายังเป็นผู้ริเริ่มสร้างพระมหาเจดีย์วิปัสสนาแห่งโลกขึ้นที่ เมืองมุมไบ เจดีย์ดังกล่าวเป็นสถูปหินที่ไม่มีเสาค้ำยันที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูง 325 ฟุต โดยจำลองแบบจากเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า  ภายในเป็นโถงขนาดใหญ่ รองรับผู้วิปัสสนาได้ 8 พันคน ไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วรรณะ นิกาย ฯลฯ  พระมหาเจดีย์แห่งนี้ยังประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับจากรัฐบาลศรีลังกาและสมาคมมหาโพธิ์ด้วย

พ.ศ. 2554 ท่านโกเอ็นก้าได้รับรางวัลปัทมภูสนะซึ่งเป็นเกียรติคุณชั้นสูงของพลเรือน ที่รัฐบาลอินเดียมอบให้ในฐานะที่ท่านได้ทำประโยชน์และมีคุณูปการแก่สังคม ปีถัดมา ท่านเดินทางกลับมาเยี่ยมแผ่นดินเกิดเป็นครั้งสุดท้าย และกล่าวปาฐกถา “135 ปีบนแผ่นดินธรรมณ โรงละครแห่งชาติที่ย่างกุ้ง แสดงความรำลึกคุณแผ่นดินในวาระที่ครอบครัวของท่านตั้งรกรากมานาน 6 ชั่วคน และรำลึกถึงคุณของท่านอูบาขิ่น ผู้ให้กำเนิดชีวิตทางธรรมของท่านด้วย

ท่านโกเอ็นก้าถึงแก่กรรมคืนวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556 ด้วยโรคชรา ขณะอายุ 90 ปี  หลังพิธีฌาปกิจในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม ณ เมืองมุมไบ ครอบครัวของท่านนำเถ้าอัฐิของท่านกลับไปยังประเทศพม่า โดยจะเปิดให้ศิษย์สักการะ ก่อนจะโปรยเถ้าอัฐิในปากแม่น้ำย่างกุ้ง และแม่น้ำอิระวดี ณ เมืองมิตจีนาและมัณฑะเลย์ตามลำดับ โดยขณะที่มารอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรภูมิ ประเทศไทย ครอบครัวของท่านได้นำโกศบรรจุเถ้าอัฐิของท่านอาจารย์ออกมาให้ศิษย์ชาวไทยได้ เข้าร่วมสักการะและกราบอำลาต่ออาจารย์ผู้สอนธรรมอันล้ำค่าเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขต่อสรรพสิ่งทั้งปวง

 

เกียรติคุณที่รัฐบาลอินเดียและรัฐต่างๆ มอบให้แก่ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

จากรัฐบาลอินเดีย:

-       ได้รับรางวัล "ปัทมภูสนะ"  ในฐานะที่ท่านได้บำเพ็ญคุณประโยชน์และคุณูปการแก่สังคมในปี พ.ศ. 2554

จากรัฐบาลแห่งรัฐต่างๆ ในประเทศอินเดีย:

-       ได้รับเชิญเป็นอาคันตุกะของรัฐบาลแห่งรัฐต่างๆ ในประเทศอินเดีย

จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า

-     ได้รับสมัญญาให้เป็น ผู้มีกิตติคุณเลื่องลือทั่วสากลโลก

-     ได้รับเชิญเป็นอาคันตุกะของรัฐบาลพม่า ตลอดจนได้รับมอบเกียรติคุณที่ มหาสัทธัมมโชติกธชะ อันหมายถึง ผู้ชูประทีปแห่งธรรม

จากสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

-       ได้รับเชิญเป็นอาคันตุกะแห่งรัฐ

-       ได้รับมอบเกียรติคุณในฐานะที่เป็น สัญลักษณ์แห่งการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

ปริญญากิตติมศักดิ์ต่างๆ

-       ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันบาลีนวนาลันทามหาวิหาร รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ในฐานะที่เป็นผู้ทรงคุณประดุจ มหาสมุทรแห่งวิชา

-       ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันกลางด้านทิเบตศึกษาชั้นสูง แห่งสารนาถ ประเทศอินเดีย ในฐานะ "ผู้เป็นเลิศในการบรรยายวิชา"

 

ประกาศเกียรติคุณจากองค์กรต่างๆ ทางพุทธศาสนา:

-       จากสมาคมมหาโพธิ์แห่งประเทศอินเดีย ในฐานะที่เป็น "ยอดราชาแห่งวิปัสสนา"

-       คณะสงฆ์แห่งประเทศอินเดีย มอบรางวัล ธรรมมุตติ

-       มหาวิหารพะโคแห่งประเทศพม่า มอบสมัญญา มหาอุบาสก วิศวะวิปัสสีอาจารย์ (ฆราวาสผู้เป็นอาจารย์สอนวิปัสสนาผู้ยิ่งใหญ่ในสากล)

-       วัดปริยัติกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า มอบสมัญญาในฐานะผู้เปรียบดัง "พระเจ้าอโศกแห่งยุคปัจจุบัน"

-       มหาสภาสงฆ์สูงสุดแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา มอบเกียรติคุณในฐานะที่เป็น "อาจารย์แห่งหลักธรรม"

-       ได้รับสมัญญา AggaMahaDhammaPacaraka จากสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

 

สามารถติดตามภาพเหตุการณ์ที่มหาเจดีย์โลกได้ที่ https://twitter.com/VipassanaOrg

 

และสามารถดูงานการแสดงคารวะแด่ท่านอาจารย์หลังจากที่ท่านจากไป ที่ลิงค์นี้ Goenkaji: The Radiant Journey Part-1