การปฏิบัติธรรมประจำวัน

การเข้ารับการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานจะมีประโยชน์แก่ท่าน ก็ต่อเมื่อการปฏิบัตินั้นช่วยให้ชีวิตของท่านมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อท่านได้มีการปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน และแนวทางปฏิบัติต่อไปนี้ คือสิ่งที่ท่านได้เคยเรียนรู้มาแล้วจากการเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตร 10 วัน โดยได้รวบรวมมาเสนอไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยความปรารถนาที่จะให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติของท่าน  นอกจากนี้ยังได้นำคำถามที่มีผู้ถามท่านอาจารย์โกเอ็นก้า และคำตอบของท่านมาลงไว้ข้างท้ายด้วย เพื่อให้เกิดความกระจ่าง

ศีล

ศีล คือรากฐานของการปฏิบัติธรรมในแนวทางนี้ ในชีวิตประจำวันของท่าน ท่านจะต้องรักษาศีลทั้งห้าข้อนี้อย่างเคร่งครัด กล่าวคือ
* ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
* ละเว้นจากการลักขโมย หรือถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้มาเป็นของตน
* ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม โดยให้มีใจยินดีแต่เฉพาะคู่ครองของตน
* ละเว้นจากการกล่าวเท็จ กล่าววาจาส่อเสียดหรือหยาบคาย
* ละเว้นจากการดื่มสุราเมรัย

การปฏิบัติภาวนา

หากท่านต้องการปฏิบัติธรรมตามวิธีการนี้อย่างจริงจังแล้ว อย่างน้อยที่สุดท่านจะต้อง
* ปฏิบัติเป็นประจำทุกวันๆ ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง
* ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีก่อนนอนสำรวจเวทนาทั้งร่างกาย และเมื่อตื่นนอนอีก 5 นาที
* ถ้าเป็นไปได้ ให้นั่งปฏิบัติร่วมกับผู้ปฏิบัติคนอื่นๆ ที่ปฏิบัติวิธีเดียวกันนี้สัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง
* เข้าปฏิบัติตามหลักสูตร 10 วัน ปีละครั้ง
* นอกเหนือจากนี้ ให้ปฏิบัติเมื่อใดก็ได้ที่มีเวลาว่าง

การปฏิบัติในชีวิตประจำวันมีขั้นตอนดังนี้

อานาปานสติ
เมื่อใดก็ตามที่จิตว้าวุ่น ไม่สงบ  หรือไม่สามารถรับรู้เวทนาหรือความรู้สึกทางกายได้ หรือสามารถรับรู้เวทนาได้  แต่ไม่อาจวางอุเบกขาต่อเวทนานั้น ก็ให้เริ่มต้นด้วยการทำอานาปานสติก่อน  เมื่อจิตสงบลงแล้ว จึงหันไปปฏิบัติวิปัสสนา  แต่ในกรณีที่จิตมีความปั่นป่วนเร่าร้อนมาก ก็ให้ทำอานาปานสติคือ สังเกตลมหายใจแต่เพียงอย่างเดียวไปตลอดทั้งชั่วโมง ด้วยการเพ่งความสนใจไปที่บริเวณใต้ช่องจมูกเหนือริมฝีปากบน โดยมีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา  หากจิตซึมเซาหรือขุ่นมัวมาก ก็ให้หายใจแรงๆ อย่างตั้งอกตั้งใจสักระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยผ่อนกลับมาหายใจเข้า-ออกตามธรรมชาติต่อไป  เมื่อจิตสงบลงแล้ว จึงเริ่มทำวิปัสสนา


วิปัสสนาภาวนา
ให้เคลื่อนความสนใจจากศีรษะไปยังเท้า และจากเท้าไปยังศีรษะอย่างเป็นระบบไปตามลำดับ โดยไม่ ละเว้นส่วนใดๆ ของร่างกาย  และให้สังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ เหล่านั้นด้วย สังเกตดูด้วย จิตที่เป็นอุเบกขา  ไม่ว่าความรู้สึกที่ได้พบนั้นจะเป็นอย่างไร ก็ให้เข้าใจถึงธรรมชาติอันไม่เที่ยงของมัน ให้ เคลื่อนความสนใจไปเรื่อยๆ  อย่าหยุดอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งเกินกว่า 2-3 นาที  แต่อย่าเคลื่อนไปโดยอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัวเป็นอันขาด  ท่านจะต้องมีสติอยู่ตลอดเวลาที่เคลื่อนความสนใจไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ กัน สุดแล้วแต่ชนิดของความรู้สึกที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าส่วนใดที่มีความรู้สึกหยาบ แข็ง เจ็บปวดรุนแรง ก็ค่อยๆ เคลื่อนความสนใจไปทีละส่วนๆ ในบริเวณนั้น  สำหรับอวัยวะส่วนที่เป็นคู่ เช่น แขนทั้ง 2 ข้าง หรือขาทั้ง 2 ข้าง  ถ้ามีความรู้สึกละเอียดเบาอย่างเดียวกันเกิดขึ้น ก็ให้เคลื่อนความสนใจไปสังเกตดูความรู้สึกที่อวัยวะทั้ง 2 ข้างพร้อมๆ กัน หากมีความรู้สึกละเอียดเบาเกิดขึ้นทั่วร่างกาย ท่านก็อาจจะกวาด ความสนใจไปได้ทั่วทั้งตัว  แล้วหลังจากนั้นจึงกลับมาสังเกตดูความรู้สึกทีละส่วน ทีละส่วนเป็นส่วนๆ ไป ตามลำดับอีกครั้งหนึ่ง

เมตตาภาวนา
เมื่อหมดชั่วโมงปฏิบัติ ให้ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจสักครู่หนึ่ง จากนั้นให้เพ่งความสนใจไปที่ความ รู้สึกอ่อนเบา ละเอียดภายในร่างกายสัก 2-3 นาที  โดยบรรจุความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีลงไป ให้เต็มเปี่ยมทั้งกายและใจ  แล้วน้อมจิตขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข


นอกเวลาปฏิบัติ

ให้มีจิตใจจดจ่ออยู่กับงานที่กำลังทำ โดยหยุดสำรวจดูตนเองเป็นระยะๆ ว่ามีสติอยู่กับงานที่อยู่เฉพาะหน้า และวางอุเบกขาอยู่ตลอดเวลาหรือไม่  เมื่อประสบกับปัญหาใดก็ตาม ให้พยายามดำรงสติอยู่ที่ลมหายใจ หรือรับรู้เวทนาที่ร่างกาย  แม้จะทำได้เพียงระยะ 2-3 วินาทีก็ตาม  เพราะการทำเช่นนี้จะช่วยรักษา จิตของท่านไม่ให้หวั่นไหวในทุกสถานการณ์


การบริจาคทาน

จงแบ่งปันสิ่งดีๆ ทั้งหลายที่ท่านได้รับให้แก่ผู้อื่นด้วย  เพราะการทำเช่นนี้จะเป็นการช่วยขจัดอัตตาของท่านเอง  ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนย่อมทราบดีว่า สิ่งมีค่าที่สุดที่จะแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ก็คือธรรมะ ฉะนั้นเขาย่อมจะทำทุกวิถีทางที่จะช่วยผู้อื่นให้ได้พบกับธรรมะอันบริสุทธิ์เช่นเดียวกับตน   การบริจาคทานโดยศิษย์ผู้ได้รับประโยชน์จากการอบรมธรรมะ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการฝึกอบรมรุ่นต่อไป เป็นรายได้ทางเดียวของศูนย์ปฏิบัติธรรมในแนวทางนี้ทั่วโลก

 

การช่วยโดยไม่หวังผลตอบแทน

การบริจาคที่ให้ผลเลิศกว่าการให้ทรัพย์สิน ก็คือการบริจาคเวลาและแรงงาน เพื่อช่วยในการดำเนินการฝึกอบรม  ผู้ที่ทำงานรับใช้ธรรมะทั้งหลาย (รวมทั้งท่านอาจารย์โกเอ็นก้า และผู้ช่วยอาจารย์คนอื่นๆ) ล้วนทำหน้าที่ของตนโดยไม่มีสิ่งตอบแทนใดๆ  การทำเช่นนี้มิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้เข้ารับการอบรมแต่เพียงฝ่ายเดียว  หากผู้ให้บริการก็ได้รับประโยชน์ด้วย  เพราะเป็นการช่วยขจัดอัตตา และทำให้เข้าถึงธรรมะได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น  ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติของตนเองก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปด้วย

 

ทางสายเดียว

จงอย่านำวิธีการปฏิบัติวิธีอื่นๆ เข้ามาปะปนกับการปฏิบัติวิธีนี้  หากท่านเคยปฏิบัติวิธีอื่นมาก่อน ท่าน อาจจะทดลองเข้าปฏิบัติวิธีนี้ดูสัก 2-3 หลักสูตร  เพื่อช่วยให้ท่านตัดสินใจว่า วิธีใดเหมาะแก่จริตของท่าน เมื่อเลือกได้วิธีที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ท่านมากที่สุดแล้ว  จงตั้งใจให้แน่วแน่ที่จะปฏิบัติแต่เฉพาะวิธีนั้นเพียงวิธีเดียว

 

การบอกกล่าวผู้อื่นเกี่ยวกับการปฏิบัติ

ท่านอาจจะอธิบายวิธีการปฏิบัติแก่ผู้อื่นได้ แต่จงอย่าสอนการปฏิบัติให้แก่เขา  เพราะแทนที่จะเป็นการช่วยเหลือท่านอาจจะทำให้เขาสับสนได้ จงสนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการจะฝึกกรรมฐานเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่จัดขึ้น โดยมีอาจารย์ผู้ได้รับการฝึกให้สอนมาแล้วเป็นผู้ดูแล

 

ข้อเตือนใจ

ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป  ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ จงเรียนรู้จากความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น  เมื่อใดที่รู้ตัวว่าได้ทำผิดไปแล้ว ก็จงยิ้มรับ  แล้วเริ่มต้นใหม่ในขณะปฏิบัติ การมีความรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน เบื่อหน่าย กระวนกระวาย ฟุ้งซ่าน หรือมีความยากลำบากอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมดา  แต่ถ้าท่านพยายามปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ท้อถอย  ท่านก็จะประสบกับความสำเร็จอย่างแน่นอน   ท่านสามารถติดต่อขอคำแนะนำจากอาจารย์ผู้ฝึกสอนท่านและอาจารย์คนอื่นๆ ได้เสมอ  การได้นั่งปฏิบัติร่วมกับผู้ปฏิบัติคนอื่นๆ ที่ปฏิบัติในแนวทางเดียวกันเป็นครั้งคราว จะช่วยให้การปฏิบัติของท่านเข้มแข็งขึ้น  จงใช้บรรยากาศธรรมะในศูนย์ปฏิบัติธรรมให้เป็นประโยชน์ ด้วยการไปนั่งปฏิบัติเป็นครั้งคราวเมื่อสามารถทำได้ แม้จะเป็นเพียงชั่วระยะเวลา 2-3 วัน หรือ 2-3 ชั่วโมง ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าที่ปฏิบัติแต่เฉพาะวิธีการนี้  ท่านสามารถไปร่วมนั่งปฏิบัติไม่เต็มหลักสูตรได้ในขณะที่มีการฝึกอบรม โดยแจ้งให้ผู้จัดการหลักสูตรทราบล่วงหน้าเพื่อจัดเตรียมที่ให้

ปัญญาที่แท้จริงเกิดจากความเข้าใจและการยอมรับว่า ทุกสิ่งล้วนไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งนี้ ท่านจะไม่หวั่นไหวต่อความผันแปรใดๆ ในชีวิต  และเมื่อท่านสามารถรักษาจิตให้สมดุลได้ ท่านย่อมจะกระทำแต่สิ่งที่จะนำความสุขมาสู่ตนเองและผู้อื่น ท่านจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในทุกขณะด้วยจิตที่เป็นอุเบกขา  ซึ่งจะนำท่านให้ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายอันสูงสุด คือความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

คำถามคำตอบเกี่ยวกับการปฏิบัติ

ผู้ปฏิบัติ
: เวลานั่งปฏิบัติยังมีความเจ็บปวดอยู่มาก แม้แต่ในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงที่นั่งปฏิบัติที่บ้าน ผมควรจะทำอย่างไรดีครับ ?


ท่านอาจารย์
: ก็ปฏิบัติต่อไป จะทำอะไรได้  เป็นโอกาสดีแล้วที่จะใช้ความรู้สึกเจ็บปวดนี้เป็นเครื่องมือ ในการขจัดกิเลส  เพราะเมื่อมีความรู้สึกที่เจ็บปวดไม่สบายเกิดขึ้น นิสัยความเคยชินเก่าๆ ก็จะให้เรามี ปฏิกิริยาตอบโต้ความรู้สึกเจ็บปวดนั้น ด้วยความโกรธ ความไม่พอใจ  จุดมุ่งหมายของการทำวิปัสสนาก็เพื่อที่จะขจัดนิสัยความเคยชินแบบนี้ คือไม่ให้มีความพอใจต่อความรู้สึกที่สบาย หรือไม่พอใจต่อความรู้สึกที่ไม่สบาย  เราจะหยุดสร้างกิเลสได้ก็ต่อเมื่อขณะที่เวทนาหรือความรู้สึกทางกายเกิดขึ้นแล้ว เราได้แต่เพียงเฝ้าสังเกตดูมันไป โดยไม่ยึดติดหรือมีปฏิกิริยาต่อมัน เพราะมีความเข้าใจในธรรมชาติที่เป็นอนิจจังของมัน  รู้ว่าความรู้สึกเช่นนั้นจะไม่คงทนอยู่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไป

ผู้ปฏิบัติ : หลังจากที่เข้ารับการฝึกอบรมแต่ละครั้ง ก็จะปฏิบัติได้ดีอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วต่อจากนั้นไม่นานนัก การปฏิบัติก็ชักจะยากขึ้นทุกทีๆ จนบางครั้งไม่สามารถจะเคลื่อนความสนใจไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เลย ดิฉันควรจะทำอย่างไรดี ?

ท่านอาจารย์ : ก็ต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ ในการมาเข้ารับการฝึกอบรม ผู้ปฏิบัติได้มีโอกาสอยู่ในสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่เต็มไปด้วยธรรมะ จึงทำให้สามารถปฏิบัติได้ดี แต่เราไม่สามารถจะอยู่แต่ในศูนย์ฝึกอบรมได้ตลอดไป เราจะต้องออกไปพบกับโลกภายนอกซึ่งมีบรรยากาศที่เต็มไปด้วยกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง  ดังนั้น เมื่อเราปฏิบัติภาวนา ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง  เราจะรู้สึกว่าโลกภายนอกบีบรัดเรา ทำให้เราอ่อนแอลง และปฏิบัติไม่ได้ดี เราจึงจำเป็นที่จะต้องต่อสู้ให้หนักยิ่งขึ้น  ถ้าพบว่าไม่สามารถที่จะสังเกตเวทนาในกายได้ ก็ให้กลับมาทำอานาปานสติ  แต่ถ้ายังจับลมหายใจไม่ได้ ก็ให้หายใจให้แรงขึ้น  จนเมื่อจิตสงบดีแล้ว ก็จะสามารถกลับไปสังเกตเวทนาตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เอง

ผู้ปฏิบัติ : ถ้าไม่มีความรู้สึกอ่อนละเอียดเบาสบายทั่วทั้งร่างกาย จะทำเมตตาภาวนาได้อย่างไร?

ท่านอาจารย์ : จริงอยู่ ถ้าเราทำเมตตาภาวนาในขณะที่มีกระแสความสั่นสะเทือนที่อ่อนละเอียดเกิดขึ้นทั่วตัว การแผ่เมตตาก็จะได้ผลดี  เพราะเท่ากับเราแผ่เมตตาออกจากส่วนลึกที่สุดของจิตใจ  แต่ถ้าเป็นเวทนาที่หยาบๆ การแผ่เมตตาก็จะออกมาจากแค่ระดับพื้นผิวของจิตเท่านั้น และจะไม่ให้ผลเต็มที่ แต่ก็ไม่เป็นไร แม้จะไม่ได้ผลเต็มที่  ก็ให้พยายามทำไปเรื่อยๆ ให้พยายามแผ่ความรัก ความปรารถนาดี ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข  จนกระทั่งให้สามารถแผ่เมตตาออกมาจากส่วนลึกของจิตใจได้ แล้วการแผ่เมตตานี้ก็จะให้ผลมากขึ้น

 

เมตตาภาวนา

ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากความโกรธ ความเกลียด ความไม่สบายใจ ความมุ่งร้ายใดๆ  ขอให้ข้าพเจ้า จงมีแต่ความรัก ความปรารถนาดี ความสงบสุขและมิตรไมตรี ความรัก ความปรารถนาดี ความสงบสุข และมิตรไมตรี

ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีส่วนในสันติสุขของข้าพเจ้า มีส่วนในมิตรไมตรีของข้าพเจ้า มีส่วนใน บุญกุศลของข้าพเจ้า มีส่วนในธรรมะของข้าพเจ้า ธรรมะ ธรรมะของข้าพเจ้า  ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นบ่อเกิด แห่งความรัก ความรักอันบริสุทธิ์ ความเมตตาปรานี

ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข จงมีสันติ ได้พบกับความหลุดพ้น จงหลุดพ้นเถิด จงหลุดพ้น เถิด  จงหลุดพ้นเถิด 

"ขอให้ทุกท่านจงได้พบกับความสุขอันแท้จริง"