ข้อปฏิบัติสำหรับผู้รับใช้ธรรมะ (Dhamma Worker)

ขอให้การรับใช้ธรรมะ จงก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวท่าน
กรุณาอ่านข้อปฏิบัตินี้อย่างละเอียด ก่อนตัดสินใจมารับใช้ธรรมะ

 

การรับใช้อย่างปราศจากอัตตา

การรับใช้อย่างปราศจากอัตตา เป็นขั้นตอนสำคัญบนเส้นทางของธรรมะ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น  วิปัสสนาจะค่อยๆ ขจัดความไม่บริสุทธิ์ออกจากจิต ทำให้เกิดความสงบและความสุขภายใน แม้ความทุกข์จะหมดไปเพียงบางส่วน  แต่ผู้ปฏิบัติก็จะเกิดความสำนึกในบุญคุณของธรรมะ มีความรัก มีความเมตตา  ความปรารถนาที่จะช่วยผู้อื่นให้หลุดพ้นจากความทุกข์เช่นเดียวกับตน  แต่เนื่องจากยังไม่แก่กล้าในธรรมะ และไม่ได้รับการฝึกให้สอนธรรมะ  การเป็นผู้รับใช้ธรรมะระหว่างการอบรมหลักสูตรวิปัสสนา เป็นวิธีหนึ่งที่จะตอบแทนบุญคุณของธรรมะ  เพราะเป็นการช่วยให้ผู้อื่นได้รับธรรมะโดยไม่หวังผลตอบแทนแต่อย่างใด  การช่วยผู้อื่นโดยปราศจากอัตตาเช่นนี้ เป็นการช่วยตนเองด้วย เพราะเป็นการสร้างบารมีทั้ง 10 และได้ละนิสัยเห็นแก่ตัว  การเป็นผู้รับใช้ธรรมะเป็นโอกาสที่จะก้าวหน้าในธรรม  ดังนั้นทุกคนจึงควรมีเจตนาและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเป็นผู้รับใช้ธรรมะ

คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นผู้รับใช้ธรรมะ

ผู้ที่ผ่านการอบรมวิปัสสนา 10 วันกับท่านอาจารย์โกเอ็นก้า หรือผู้ช่วยอาจารย์สามารถสมัครเป็นผู้รับใช้ธรรมะได้  ทั้งนี้จะต้องไม่ปฏิบัติวิปัสสนาวิธีอื่นหลังจากผ่านการอบรม 10 วันครั้งล่าสุด

ข้อปฏิบัติของผู้รับใช้ธรรมะ

ผู้รับใช้ธรรมะจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับเดียวกันกับผู้เข้ารับการอบรมวิปัสสนา นอกจากกฎบางข้ออาจมีการผ่อนผันบ้างเพื่อให้สามารถทำงานได้ดี ซึ่งจะระบุไว้อย่างชัดเจนข้างล่างนี้

การรักษาศีล 

ศีล 5 เป็นรากฐานของการปฏิบัติธรรม ซึ่งได้แก่

1. ไม่ฆ่าสัตว์
2. ไม่ลักทรัพย์
3. ประพฤติพรหมจรรย์
4. ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
5. ไม่เสพของมึนเมา

ศีล 5 เป็นข้อปฏิบัติที่ทุกคนในศูนย์ปฏิบัติธรรมจะต้องรักษาอย่างเคร่งครัด

การยอมรับคำแนะนำของอาจารย์

กฎสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ผู้รับใช้ธรรมะจะต้องเชื่อฟังคำแนะนำของอาจารย์และอาจารย์ผู้ช่วยสอน รวมทั้งผู้จัดการหลักสูตร  แม้ว่าจะไม่มีการบังคับให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำงานที่เขาไม่ต้องการจะทำ  แต่การทำงานตามอำเภอใจของตนจะเป็นการสร้างอัตตา ซึ่งจะสวนทางกับการปฏิบัติธรรม  การเริ่มงานใหม่โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ที่รับผิดชอบ  มีแต่จะสร้างความสับสน ซ้ำซ้อน ทั้งยังเสียเวลาและทรัพยากร  ผลที่เกิดขึ้นมีแต่จะทำลายบรรยากาศของธรรมะ  การปฏิบัติตามคำแนะนำจะทำให้ผู้รับใช้ธรรมะละความชอบความชังต่างๆ เพื่อประโยชน์ของผู้เข้ารับการอบรม และการดำเนินการอย่างราบรื่นของศูนย์

การให้ความสำคัญแก่ผู้เข้าอบรม

เกณฑ์ปฏิบัติอีกข้อหนึ่ง คือ ผู้รับใช้ธรรมะควรเสียสละให้แก่ผู้เข้าอบรม  ศูนย์มีไว้เพื่อสอนธรรมะ ผู้เข้ารับการอบรมคือบุคคลที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นผู้ที่เรียนการปฏิบัติธรรม  หน้าที่ของผู้รับใช้ธรรมะคือการช่วยผู้เข้าอบรมในทุกๆ ด้านเท่าที่จะช่วยได้  ดังนั้นผู้เข้ารับการอบรมควรได้ที่พักก่อน ควรได้อาหารก่อน  ผู้รับใช้ธรรมะควรรอให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนได้รับประทานอาหารก่อนที่จะรับประทานเอง (นอกจากกรณีที่งานเร่งด่วน) ไม่ควรนั่งร่วมกับผู้เข้าอบรมในห้องอาหาร  ไม่ควรใช้ห้องน้ำ หรือซักผ้าในขณะที่ผู้เข้ารับการอบรมกำลังใช้สิ่งเหล่านั้นอยู่ ไม่ควรเข้านอนก่อนผู้เข้ารับการอบรม  เพราะอาจมีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือการใช้ของใช้อื่นๆ ก็ควรให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ใช้ก่อน  ผู้รับใช้ธรรมะต้องพยายามไม่รบกวนผู้เข้ารับการอบรมในทุกกรณี  ผู้รับใช้ธรรมะควรให้ความเคารพและมีความปรารถนาดีต่อผู้เข้ารับการอบรม  และคอยตรวจตราดูว่า ผู้เข้ารับการอบรมปฏิบัติตามกฎระเบียบและตารางปฏิบัติ คอยตักเตือนผู้ที่หลงลืมไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ  แต่การตักเตือนต้องทำด้วยอาการสุภาพ  ด้วยความเมตตา ด้วยเจตนาที่จะให้กำลังใจแก่ผู้เข้ารับการอบรม ให้เอาชนะความยากลำบากที่เกิดกับตน

การปฏิบัติต่อผู้เข้ารับการอบรม

การติดต่อโดยตรงกับผู้เข้ารับการอบรม ควรเป็นหน้าที่ของผู้รับใช้ธรรมะที่เป็นผู้จัดการหลักสูตร หรือผู้ที่ผู้จัดการหลักสูตรมอบหมาย ซึ่งจะมีฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  ผู้จัดการฝ่ายชายติดต่อกับผู้เข้ารับการอบรมชาย  ผู้จัดการฝ่ายหญิงติดต่อกับผู้เข้ารับการอบรมหญิง  ผู้รับใช้ธรรมะจะต้องพร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้เข้ารับการอบรมร้องขอ และทำด้วยความอ่อนโยน เป็นมิตร  แต่ให้ใช้ความเด็ดขาดเมื่อจำเป็น  ทุกครั้งที่ติดต่อกับผู้เข้าอบรมให้ถามชื่อไว้ด้วย

ควรหลีกเลี่ยงการพูดจาอย่างยืดเยื้อ โดยแนะนำให้ผู้เข้าอบรมไปหาอาจารย์ และต้องแจ้งให้อาจารย์ทราบเมื่อมีการติดต่อกับผู้เข้ารับการอบรมในเรื่องวิธีปฏิบัติ

ทุกครั้งที่มีการฝ่าฝืนระเบียบ ให้ถามสาเหตุแทนที่จะสรุปเอาเองว่าสาเหตุเป็นเช่นนั้นเช่นนี้  ถ้าต้องมีการบังคับให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ต้องระวังที่จะไม่พูดด้วยความขุ่นเคือง  ถ้ามีความขุ่นเคืองควรมอบหมายให้ผู้รับใช้ธรรมะคนอื่นเป็นผู้พูด  ในการพูดควรระมัดระวังการใช้คำให้เหมาะ พยายามใช้คำพูดในทางสร้างสรรค์แทนคำพูดในทางทำลาย

ในชั่วโมงปฏิบัติรวม ถ้ามีผู้เข้าอบรมออกจากห้องปฏิบัติรวม ก่อนอื่นให้ถามเขาว่า ไม่สบายหรืออย่างไร จากนั้นให้พยายามชักชวนเขากลับเข้าห้องปฏิบัติรวม  อย่าถูกต้องตัวของผู้เข้ารับการอบรม หรือผู้รับใช้ธรรมะด้วยกัน  อย่านำเรื่องความยากลำบากของผู้เข้ารับการอบรมไปเปิดเผยให้ผู้อื่นฟัง

การปฏิบัติธรรมของผู้รับใช้ธรรมะ

ผู้รับใช้ธรรมะต้องทำงานอย่างขยันขันแข็งและรวดเร็ว โดยมีใจจดจ่ออยู่กับงาน นี่คือสิ่งที่ผู้รับใช้ต้องฝึกอย่างไรก็ตามผู้รับใช้ธรรมะต้องไม่ละทิ้งการปฏิบัติวิปัสสนา  ผู้รับใช้ธรรมะทุกคนต้องปฏิบัติวิปัสสนาอย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง  และถ้าเป็นไปได้ควรเป็นชั่วโมงปฏิบัติรวม  นอกจากนี้จะต้องเข้าปฏิบัติกับอาจารย์ในเวลาค่ำทุกวัน หลังจากที่ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนออกจากห้องปฏิบัติรวม  ชั่วโมงปฏิบัติเหล่านี้จำเป็นต่อสวัสดิภาพของผู้รับใช้ธรรมะ  ผู้รับใช้ธรรมะควรปฏิบัติวิปัสสนาตลอดระยะเวลาของหลักสูตร และปฏิบัติอานาปานสติเมื่อจำเป็นเท่านั้น  ในระหว่างชั่วโมงปฏิบัติรวม(ชั่วโมงอธิษฐาน) ผู้รับใช้ธรรมะอาจเปลี่ยนท่านั่งได้

ผู้รับใช้ธรรมะทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องสังเกตตัวเองตลอดเวลา  ถ้าใครพบว่าตนกำลังมีกิเลสในใจหรือเหนื่อยล้าเกินไป ก็จะต้องหยุดทำงานชั่วคราวและทำวิปัสสนาให้มากขึ้น หรือพักผ่อนให้มากขึ้น  ไม่ว่างานนั้นจะเร่งด่วนเพียงใด  ธรรมะจะจัดสรรให้งานทุกอย่างสำเร็จลงจนได้เสมอ  จงอย่าเกิดความรู้สึกว่า ไม่มีใครทำงานแทนท่านได้  คนที่เหนื่อยเกินไปหรือมีความขุ่นเคืองในใจ ไม่สมควรที่จะทำงานธรรมะ  เพราะเขาจะไม่มีความสงบและความเป็นมิตรแบ่งปันให้ใคร  งานที่เขาทำจึงไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง 

ผู้รับใช้ธรรมะที่อยู่ศูนย์ต่อเนื่องกันหลายหลักสูตร (สำหรับศูนย์ที่มีการจัดหลักสูตรอบรมต่อเนื่องกัน) จะต้องเข้าหลักสูตร 10 วันเป็นคราวๆ ไป และหยุดการงานทุกอย่าง  และในการเข้าหลักสูตรต้องไม่หวังว่าจะได้รับการบริการเป็นพิเศษ เพราะเหตุที่เคยเป็นผู้รับใช้ธรรมะมาก่อน

การแต่งกาย

ในสายตาของผู้ที่มาติดต่อกับศูนย์ ผู้รับใช้ธรรมะคือตัวแทนของผู้ปฏิบัติธรรม  ดังนั้นผู้รับใช้ธรรมะจึงควรแต่งกายให้สุภาพเหมาะสม เพื่อให้เกิดความประทับใจที่ดีต่อชาวบ้านในละแวกนั้น  ตลอดจนผู้มาเยือนศูนย์ หรือผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร 10 วัน  ผู้รับใช้ธรรมะไม่ควรแต่งกายฉูดฉาดหรือประเจิดประเจ้อ หรือในลักษณะดึงดูดความสนใจ หรือปลุกเร้ากามารมณ์  เครื่องประดับก็ควรใส่แต่น้อย หรือไม่ใช้เลย  ผู้รับใช้ธรรมะควรสำนึกอยู่เสมอว่า ตนมาเพื่อรับใช้ธรรมะ  ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นกิเลสในใจของผู้อื่นด้วยการแต่งกายของตน

การพบอาจารย์

ถ้ามีปัญหา ผู้รับใช้ธรรมะสามารถขอคำแนะนำจากอาจารย์  เวลาที่เหมาะสมจะหยิบยกปัญหาการทำงานขึ้นมาถามคือ เวลาค่ำหลังจากการปฏิบัติธรรมกับอาจารย์ (หลัง21.00 น.) ปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาเร่งด่วนอาจปรึกษาอาจารย์ได้ที่ห้องพักของอาจารย์  ถ้าอาจารย์ไม่อยู่ ผู้รับใช้ธรรมะก็อาจจะปรึกษาข้อปัญหากับผู้จัดการหลักสูตร

การใช้สมบัติของศูนย์

ผู้รับใช้ธรรมะทุกคนต้องระวังศีลข้อ 2 คือ การไม่ถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตมาเป็นของตน  ดังนั้นทุกคนจึงต้องระมัดระวังที่จะไม่นำสิ่งของ หรือเครื่องใช้ของศูนย์มาใช้ส่วนตัว โดยไม่ได้ขออนุญาตจากผู้จัดการฯ

การถูกเนื้อต้องตัวกัน

เพื่อรักษาบรรยากาศของการปฏิบัติธรรมให้บริสุทธิ์ และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้เข้ารับการอบรม  ผู้รับใช้ธรรมะทุกคนต้องหลีกเลี่ยงการถูกเนื้อต้องตัวกับผู้เข้ารับการอบรม หรือกับผู้รับใช้ธรรมะด้วยกันเอง  ไม่ว่าจะเป็นเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกัน  กฎข้อนี้จะต้องรักษาอย่างเคร่งครัดตลอดเวลาที่อยู่ในศูนย์

การแยกชาย-หญิง

เนื่องจากผู้รับใช้ธรรมะจะต้องประสานงานและปรึกษางานกัน จึงไม่อาจแยก ชาย-หญิงได้อย่างเด็ดขาด แต่ผู้รับใช้ธรรมะต้องระวังที่จะไม่ปล่อยให้มีการสังสรรค์ระหว่างชายกับหญิงเกินกว่าความจำเป็นของงาน กฎข้อนี้ยิ่งจำเป็นมากขึ้น ในกรณีคู่สามีภรรยาที่มาเป็นผู้รับใช้ธรรมะพร้อมกัน  คู่สามีภรรยาที่จะมาเป็นผู้รับใช้ธรรมะพร้อมกันต้องขออนุญาตอาจารย์ก่อน และต้องระวังที่จะไม่พูดคุยกันเกินความจำเป็น

สัมมาวาจา

ผู้รับใช้ธรรมะจะต้องเคารพบรรยากาศของความเงียบที่ผู้เข้ารับการอบรมพยายามรักษา  ดังนั้นจึงควรรักษาความเงียบตลอดเวลาที่อยู่ในศูนย์ จะพูดเมื่อจำเป็นเท่านั้น  และแม้ว่าจะมีผู้เข้ารับการอบรมจำนวนน้อยในบางครั้ง ก็ไม่บังควรทำลายความเงียบโดยไม่จำเป็น

ในการพูดคุยกัน ผู้รับใช้ธรรมะจะต้องใช้สัมมาวาจา กล่าวคือ

1. ไม่พูดปด หรือพูดขาด หรือเกินเลยจากความจริง
2. ไม่พูดคำหยาบ ผู้ปฏิบัติธรรมควรพูดจาสุภาพอ่อนโยน
3. ไม่พูดส่อเสียด ว่ากล่าว หรือวิจารณ์ผู้อื่นลับหลังด้วยความขุ่นเคือง
4. ไม่พูดเพ้อเจ้อ หรือซุบซิบนินทา

จะเห็นว่าสัมมาวาจานั้นปฏิบัติได้ยากกว่าการเงียบ แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่เดินบนเส้นทางธรรมะ


สิ่งเสพติด

ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคน เมื่อยอมรับธรรมะอย่างเต็มที่แล้ว จะต้องงดการเสพของมึนเมาทุกชนิด เช่น สุรา กัญชา ยาสูบ ยาฉีด สิ่งเสพติดอื่นๆ

สำหรับบุหรี่หรือยาสูบในรูปแบบใดๆ ห้ามใช้ในศูนย์อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะในอาคารหรือนอกอาคาร และผู้รับใช้ธรรมะก็ไม่ควรออกไปสูบบุหรี่นอกศูนย์เช่นเดียวกัน

อาหาร

ผู้รับใช้ธรรมะรักษาศีล 5 ซึ่งอนุญาตให้รับประทานอาหารเย็นได้ถ้าต้องการ  อาหารทุกอย่างในศูนย์ฯ จะต้องเป็นมังสวิรัติ  ถ้ามีการนำอาหารสำเร็จรูปเข้ามาในศูนย์ฯ จะต้องเป็นอาหารมังสวิรัติล้วนๆ  และไม่ควรให้ผู้เข้ารับการอบรมเห็น  ห้ามอาหารที่มีส่วนผสมของไข่  การนำอาหารสำเร็จเข้ามาในศูนย์ฯ ควรมีแต่น้อย

การอ่านหนังสือ

ผู้รับใช้ธรรมะอาจอ่านหนังสือพิมพ์ได้  แต่ต้องไม่อ่านให้ผู้เข้ารับการอบรมเห็น  ห้ามอ่านนวนิยายหรือหนังสืออ่านเพื่อความบันเทิงอื่นๆ  สำหรับผู้รับใช้ธรรมะที่ต้องการจะอ่านหนังสือนอกเหนือจากข่าวสารรายวัน อาจขอยืมหนังสือจากห้องสมุดของศูนย์ได้ (ถ้ามี)

การติดต่อกับคนภายนอก

แม้ว่าจะไม่มีข้อห้ามสำหรับผู้รับใช้ธรรมะในการติดต่อกับคนภายนอก  แต่ก่อนที่จะพบกัน ต้องขออนุญาตจากอาจารย์หรือผู้จัดการหลักสูตรเสียก่อน

การอยู่ที่ศูนย์ต่อเนื่องกันหลายหลักสูตร

สำหรับศูนย์ฯ ที่มีการจัดการอบรมต่อเนื่องกันหลายหลักสูตร  ผู้ปฏิบัติธรรมที่เอาจริงเอาจังอาจขออนุญาตอาจารย์ หรือผู้จัดการ เพื่ออยู่อบรมหลายหลักสูตรติดต่อกัน  โดยเข้าอบรมสลับกับการเป็นผู้รับใช้ธรรมะ ซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้ธรรมะทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อความมั่นคงในธรรมยิ่งขึ้น

ความสัมพันธ์กับผู้จัดการหลักสูตร

ผู้รับใช้ธรรมะควรสำนึกให้ถูกต้องว่า ผู้จัดการหลักสูตรได้รับมอบหมายจากอาจารย์ให้ดูแลความเป็นไปของศูนย์ฯ ระหว่างการอบรม  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้รับใช้ธรรมะที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้จัดการหลักสูตร การทำเช่นนี้จะช่วยให้การจัดการศูนย์ฯ ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ  ถ้าผู้รับใช้ธรรมะมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ควรจะเขียนบันทึกและปรึกษากับผู้จัดการ

การรักษาสถานที่ให้สะอาด

ควรรักษาสถานที่และอาคารต่างๆ ให้สะอาดเรียบร้อย เช่น ห้องปฏิบัติรวม ห้องพัก ห้องครัว และสำนักงาน

การบริจาคทาน

ตามระเบียบของศูนย์ฯ จะไม่มีการเรียกเก็บเงินใดๆ ทั้งสิ้นจากผู้เข้ารับการอบรม หรือผู้รับใช้ธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ที่พัก หรือค่าบริการอื่นใด แม้แต่คำสอนธรรมะ  การสอนธรรมะต้องเป็นการให้เปล่า  สำหรับอาหาร ที่พัก และสิ่งอื่นๆ ของศูนย์เป็นทานที่ได้รับบริจาคจากผู้เข้าอบรมรุ่นก่อนๆ  ดังนั้นผู้รับใช้ธรรมะต้องสำนึกในเรื่องนี้ และพยายามให้บริการอย่างดี  โดยไม่ทำให้ทานเหล่านี้ต้องสูญเปล่า เพื่อที่ผู้บริจาคทานจะได้ประโยชน์สูงสุดจากทานเหล่านี้  ในทำนองเดียวกันผู้รับใช้ธรรมะก็สามารถบริจาคทาน เพื่อให้ผู้อื่นได้รับธรรมะตามกำลังทรัพย์ของตน ซึ่งจะเป็นการสร้างบารมีให้แก่ตนเอง  ทานเหล่านี้ใช้ในการดำเนินการสอนธรรมะของศูนย์ฯ และเป็นแหล่งทุนแหล่งเดียวของศูนย์ฯ

ผู้ที่ได้ประโยชน์จากศูนย์ จะไม่ต้องจ่ายเงินหรือสิ่งตอบแทนอื่นใด ทรัพย์ สิ่งของ กำลังกาย และกำลังปัญญาที่ท่านบริจาค  เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นทั้งสิ้น ไม่ใช่สิ่งแลกเปลี่ยนกับอาหาร ที่พัก หรือประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับจากศูนย์  นอกจากนี้การบริจาคกำลังกายยังเป็นการฝึกธรรมะภาคปฏิบัติ เป็นการสร้างบารมีทั้ง 10   ศูนย์ฯ จึงเป็นทั้งโรงเรียนสำหรับผู้เข้ารับการอบรม และเป็นสถานอบรมให้แก่ผู้รับใช้ธรรมะที่นำธรรมะไปประยุกต์ใช้ในโลกภายนอก โดยการฝึกรับใช้คนจำนวนมากอย่างถ่อมตัว และด้วยความรัก ความเมตตา

กล่าวโดยสรุป

ผู้รับใช้ธรรมะควรเชื่อฟังคำแนะนำของอาจารย์และผู้จัดการหลักสูตร  พยายามทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อช่วยผู้เข้ารับการอบรม และหลีกเลี่ยงที่จะรบกวนผู้เข้าอบรม  พึงระลึกอยู่เสมอว่าท่านอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยให้ตัวของท่านเองก้าวหน้าในธรรมะยิ่งขึ้น

ถ้าท่านมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับข้อปฏิบัติเหล่านี้ ให้ขอคำอธิบายจากอาจารย์ หรือผู้จัดการหลักสูตร ขอให้ธรรมทานของท่าน จงเป็นปัจจัยให้ท่านเจริญก้าวหน้าบนเส้นทางแห่งธรรมะ นำท่านไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง และได้พบกับความสุขอย่างแท้จริง

ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน !